คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ที่โจทก์ร่วมใช้กับสินค้าต่างๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าหลายชนิดของโจทก์ร่วมในราชอาณาจักร การที่มีบุคคลอื่นผลิตสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นำมาให้จำเลยจำหน่ายโดยที่สินค้า กล่องบรรจุสินค้า และสมุดคู่มือการใช้สินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวใช้คำว่า “BOSCH HID” ติดอยู่กับสินค้า ซึ่งคำดังกล่าวมีตัวอักษรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่สีแดงเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วม อีกทั้งข้างกล่องบรรจุสินค้ายังติดสติกเกอร์ระบุคำว่า “GERMANY BOSCH” เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศเยอรมนี แม้โจทก์ร่วมจะไม่มีสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในราชอาณาจักร แต่สินค้าดังกล่าวก็เป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าไฮดรอลิก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของยานพาหนะของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร ย่อมถือได้ว่าเจ้าของสินค้าที่ผลิตสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวเอาเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมทุกตัวอักษรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์มาใช้โดยเจตนาให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวหลงเชื่อว่าสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม และแม้จะปรากฏว่าคำที่ใช้กับสินค้าดังกล่าวมีคำว่า “HID” ต่อจากคำว่า “BOSCH” ด้วยก็ตาม คำว่า “HID” เป็นเพียงสิ่งบ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าที่หมายถึงให้ความเข้มข้นของแสงไฟสูงเท่านั้น ไม่ใช่การเพิ่มเติมในส่วนสาระสำคัญเพียงพอที่จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” และ คำว่า “BOSCH HID” จึงหาทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าไม่อาจหลงเชื่อว่าสินค้านั้นไม่ใช่สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า บริษัท บ. เจ้าของสินค้าได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์หรือไม่ ซึ่งหากได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมแล้ว การที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้าดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ได้ เพราะเป็นการเสนอขายสินค้าที่มิได้มีการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีความสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272, 275 และ 33 กับริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทโรเบิร์ต บอสช์ จีเอ็มบีเอช (Robert Bosch GMBH) ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์คำว่า “BOSCH” ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมแก่ประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 เวลา 18.45 นาฬิกา นางสาวชลิตา ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมพร้อมด้วยเจ้าพนักงานตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาลไปทำการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วม ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรกับสินค้าจำพวก 7 เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า จำพวก 9 เช่น วิทยุติดรถยนต์ จำพวก 12 เช่น ไฮดรอลิกซึ่งเป็นชิ้นส่วนของยานพาหนะ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2505 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค. 3553 เลขที่ ค. 1162 และเลขที่ ค. 1164 ที่บ้านเลขที่ 570/3 ซอยสุขสวัสดิ์ แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้นปรากฏว่าพบสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ จำนวน 14 กล่อง กล่องบรรจุสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ จำนวน 11 กล่อง และสมุดคู่มือการใช้สินค้า ชุดหลอดไฟติดรถยนต์จำนวน 24 เล่ม เก็บอยู่ที่ชั้นบนของบ้าน สินค้าทั้งหมดที่พบปรากฏชื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH HID” ติดอยู่ที่ตัวสินค้า ที่กล่องบรรจุสินค้า และที่สมุดคู่มือดังกล่าว เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า สินค้า กล่องบรรจุสินค้า และสมุดคู่มือที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH HID” ติดอยู่เป็นสินค้า กล่องบรรจุสินค้า และสมุดคู่มือสำหรับสินค้าที่เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ คำว่า “BOSCH” อันเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรไว้กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) หรือไม่ เมื่อสินค้าของกลางเป็นสินค้าคนละประเภทกับสินค้าที่โจทก์ร่วมผลิตโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” สินค้าของกลางจึงไม่ใช่สินค้าที่โจทก์ร่วมผลิต การที่เจ้าของสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นำเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมทั้งหมดในลักษณะที่เหมือนกันทุกตัวอักษรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่สีแดงเช่นเดียวกันไปใช้กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะเดียวกันกับสินค้าไฮดรอลิก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของยานพาหนะของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายคำว่า “BOSCH” ไว้ในราชอาณาจักรเพื่อใช้กับสินค้าดังกล่าวตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค. 1164 หากเจ้าของสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ที่นำออกจำหน่าย ย่อมถือได้ว่าเจ้าของสินค้านั้นเอาเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมทั้งหมดทุกตัวอักษรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์มาใช้โดยมีเจตนาให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวหลงเชื่อว่าสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม แม้สินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นอกจากจะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมแล้วยังมีคำว่า “HID” ต่อจากคำว่า “BOSCH” ด้วยก็ตาม แต่ก็ปรากฏตามคู่มือการใช้สินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ว่าอักษร “HID” ย่อมาจากคำว่า “High Intensity Discharge” ซึ่งมีความหมายว่า ให้ความเข้มข้นของแสงไฟสูง คำว่า “High Intensity Discharge” หรือ “HID” เป็นเพียงสิ่งที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์เท่านั้น การเพิ่มเติมคำว่า “HID” ต่อท้ายคำว่า “BOSCH” ไม่ใช่การเพิ่มเติมในส่วนสาระสำคัญเพียงพอที่จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” และคำว่า “BOSCH HID” การเพิ่มเติมคำว่า “HID” ดังกล่าว จึงหาได้ทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวไม่อาจหลงเชื่อว่าสินค้านั้นไม่ใช่สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมไม่ นอกจากนี้ที่ข้างกล่องบรรจุสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ ยังมีสติกเกอร์ระบุคำว่า “GERMANY BOSCH” เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอีกด้วย ดังนี้ การที่เจ้าของสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ซึ่งระบุที่ข้างกล่องว่าเป็น “BOSCH (H.K) INVESMENT CO.,LIMITED” ได้เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมที่ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์มาใช้กับสินค้าดังกล่าวและทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้านั้น หากปรากฏว่าเจ้าของสินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ที่นำออกจำหน่าย ย่อมเข้าลักษณะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ได้ อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว การกระทำของจำเลยจึงอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างกลางวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า เมื่อการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่การเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมมาใช้ดังที่บัญญัติใช้ในมาตรา 272 (1) การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ได้ โดยยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมกับพยานหลักฐานของจำเลยนั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปโดยไม่ย้อนสำนวนว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์คำว่า “BOSCH” ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) หรือไม่ เห็นว่า แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมโดยพยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างได้ว่า จำเลยได้เสนอจำหน่ายสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ของกลางซึ่งเป็นสินค้าที่เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนกับสินค้าดังกล่าวคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมมาใช้กับสินค้าและกล่องบรรจุสินค้าดังกล่าวก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงผู้เสนอจำหน่าย มิได้เป็นผู้ผลิตหรือเป็นเจ้าของสินค้านั้น โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางสาวชลิตามาเบิกความเพียงว่า สินค้าของกลางเป็นสินค้าคนละประเภทกับสินค้าที่โจทก์ร่วมผลิตโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” สินค้าของกลางจึงไม่ใช่สินค้าที่โจทก์ร่วมผลิตเท่านั้น ปรากฏที่ข้างกล่องบรรจุสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ของกลางว่า เจ้าของสินค้าดังกล่าวชื่อ “BOSCH (H.K) INVESTNENT CO.,LIMITED” (บริษัทบอสช์ (เอช.เค) อินเวสเมนต์ โค.,ลิมิเต็ด) ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าบริษัทบอสช์ (เอช.เค) อินเวสเมนต์ โค.,ลิมิเต็ด ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมกับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ของบริษัทดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากบริษัทดังกล่าวได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ของกลาง การที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้าชุดหลอดไฟของกลางย่อมไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ได้ เพราะเป็นการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มิได้ทำขึ้นโดยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเสนอจำหน่ายสินค้าที่เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนคำว่า “BOSCH” ของโจทก์ร่วมกับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ไปใช้กับสินค้าดังกล่าวโดยเจ้าของสินค้านั้นไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ได้นั้น จะต้องเป็นการนำมาใช้ในชื่อหรือข้อความเดียวกันหรือในรูป รอยประดิษฐ์ที่ตั้งใจให้เหมือนกันในลักษณะปลอม ไม่ใช่เพียงแต่เลียนแบบ แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะนำสืบข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยเสนอจำหน่ายสินค้าของกลางที่มีคำว่า “BOSCH HID” ซึ่งคำว่า “BOSCH” มาจากชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่ใช้ในการประกอบการค้าและเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม ก็เป็นการแสดงเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมโดยนำคำว่า “HID” มาประกอบคำว่า “BOSCH” เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) และพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ขอให้พิพากษากลับฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share