คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างกันว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้จัดหาลูกจ้างเพื่อปฏิบัติงานตามที่จำเลยที่ 2 จะสั่งให้ปฏิบัติจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นตามความ ในข้อ 7 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 ในอันที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 จ้าง มาแต่ประการใด สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงมีข้อความว่า ถ้าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อใดโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เลิกจ้างได้เงื่อนไขของสัญญานี้อาศัยเหตุการณ์ตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรณีไม่แน่นอนจึงจะถือว่าสัญญาจ้างโจทก์เป็นการจ้างมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เมื่อเลิกจ้างหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าว่าบริษัทผู้รับจ้างรายใหม่ได้เข้ามาดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะได้โอนพนักงานและกิจการให้บริษัทใหม่ดังนี้ เป็นการโอนการจ้าง มิใช่การเลิกจ้างจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้ง 85 คนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1เลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงมาจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วงมาจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ประกาศให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ทราบ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบกิจการทั้งหมดพร้อมทั้งแรงงานให้บริษัท ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาและเป็นผู้รับจ้างรายใหม่ของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการต่อไป จำเลยที่ 1 มีหนังสือสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนกับโจทก์รวม 32 คน จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ทั้ง 85 คนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1เพียงผู้เดียว หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาหรือจ้างทำของกับจำเลยที่ 2 โจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กันแต่ประการใดจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชอบในการเลิกจ้าง ไม่มีหน้าที่บอกกล่าวล่วงหน้าและชำระค่าชดเชยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้รับเหมาชั้นต้นตามความหมายในข้อ 7 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ในอันที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ และฟังว่าสัญญาจ้างไม่เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างไม่แน่นอน จะถือเป็นการจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์คำฟ้องส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 85 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 มีข้อความระบุว่า บริษัทการบินไทย จำกัด ผู้ว่าจ้างกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเอสแอนด์พีแปซิฟิค ผู้รับจ้าง ได้ตกลงทำสัญญาจ้างกันมีข้อความว่า ผู้รับจ้างจะต้องเป็นผู้จัดหาลูกจ้างเพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานทุกชนิดตามที่ผู้ว่าจ้างจะสั่งให้ปฏิบัติ ที่ฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้นของผู้ว่าจ้าง ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาลูกจ้างให้จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ว่าจ้าง มิใช่เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นตามความในข้อ 7 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ในอันที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ประการใด

ตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เพียงแต่มีข้อความว่า ถ้าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อใด โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1เลิกจ้างได้โดยอาศัยเหตุการณ์ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งเป็นกรณีไม่แน่นอน เนื่องด้วยในการปฏิบัติได้มีการต่ออายุสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ติดต่อกันมาหลายครั้ง หรือมีการประกวดราคาจ้างจำเลยที่ 1 อาจชนะการประกวดราคาครั้งใหม่ก็ได้ ดังนี้จะถือว่าจ้างโจทก์เป็นการจ้างมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนไม่ได้ จำเลยที่ 1จึงต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้มีประกาศให้พนักงานทราบล่วงหน้าแล้วว่า บริษัทผู้รับจ้างรายใหม่จะได้เข้ามาดำเนินการแทนจึงถือว่าเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า ข้อความในประกาศดังกล่าวระบุว่า ทางห้างจำเลยที่ 1 จะได้โอนพนักงานและกิจการให้บริษัทใหม่ จึงขอให้พนักงานทุกคนให้ร่วมมือกับบริษัทใหม่ ซึ่งการโอนมิใช่เป็นการเลิกจ้าง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 อนึ่ง เนื่องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ย เห็นว่าตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแต่ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาให้ จึงเห็นควรแก้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเรื่องดอกเบี้ยเสียใหม่ให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ที่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายให้แก่โจทก์แต่ละคน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share