คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5124/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนระงับการดำเนินกิจการมิได้มีผลให้หนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ระงับไป ส่วนการบังคับชำระหนี้จะดำเนินการโดยวิธีใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 26 แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 ที่ห้ามไว้แต่เฉพาะจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปรส. ไม่ได้ เท่านั้น ส่วนประกาศของคณะกรรมการ ปรส. ว่าด้วยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็มิได้บังคับว่า เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อ ปรส. เท่านั้น และโดยสภาพโจทก์ไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้เพราะวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2541 ยังไม่มีประกาศของคณะกรรมการ ปรส. ออกใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน2539 จำเลยที่ 1 วางประจำไว้บางส่วนราคาส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินสัญญาจะใช้เงินจำนวน 2,516,936 บาท ให้แก่โจทก์ในวันที่ 18 กันยายน 2540 โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเพราะไม่สามารถเบิกเงินจากจำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อาวัล แต่จำเลยที่ 2 ถูกระงับการดำเนินกิจการ โจทก์จึงไม่ได้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นองค์การของรัฐและเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินพ.ศ. 2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นบริษัทและเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ทุกประเภทของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ความรับผิดในฐานะผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ จึงโอนไปเป็นของจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยผลของกฎหมาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน 2,516,936 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันว่าหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับผิดชอบชำระให้แก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้วงเงินสินเชื่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่จำเลยที่ 2 เรียบร้อยแล้วตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานรับรู้การจ่ายเงินตามวงเงินสินเชื่อที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 2 เท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ถูกระงับการดำเนินกิจการจนไม่อาจจ่ายเงินให้แก่โจทก์ได้จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์ฟ้อง ก่อนตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดชำระรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 และห้ามมิให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินคืนตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ได้ซึ่งไม่ใช่เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 อยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อชำระบัญชี จึงชอบที่โจทก์จะไปยื่นขอรับรองสิทธิเพื่อการชำระบัญชีเช่นเดียวกับเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิใช่ผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินไม่มีความผูกพันรับผิดต่อโจทก์ ทั้งตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมิได้บัญญัติให้จำเลยที่ 3 ต้องรับโอนสิทธิทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มาเป็นของจำเลยที่ 3 และแม้จำเลยที่ 2 จะถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ ก็มีผลเพียงทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจเงินทุนอันเป็นธุรกิจที่เคยได้รับอนุญาตไว้เท่านั้น แต่สถานภาพความเป็นนิติบุคคล สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของจำเลยที่ 2 ยังมีอยู่มิได้สิ้นสุด หรือโอนไปยังบุคคลอื่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินพ.ศ. 2540 กำหนดให้จำเลยที่ 4 มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ทุกประเภทของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่จำเลยที่ 4 ยังมิได้เข้าไปรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงยังไม่มีนิติสัมพันธ์หรือส่วนเกี่ยวข้องกับหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 หรือไม่

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์ และพยานจำเลยและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,516,936 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2,516,936 บาท ให้แก่โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อาวัล เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิด ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โดยก่อนที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนจะถูกฟ้องคดีนี้ ได้ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการทั้งหมด ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะดำเนินการแก้ไขฐานะและการดำเนินการตามแนวนโยบายของทางการ ทั้งนี้เว้นแต่การกระทำการที่กำหนดไว้ในคำสั่งและภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 198/2540 และต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (คณะกรรมการ ปรส.) ได้มีประกาศเรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7(3) และมาตรา 16(3) แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายมีว่าโจทก์ยังมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินในฐานะผู้รับอาวัลได้หรือไม่หรือจะต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศของ ปรส. ดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า แม้กระทรวงการคลังจะมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ระงับการดำเนินกิจการก็ตาม คำสั่งดังกล่าวมิได้มีผลให้หนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ระงับไป จำเลยที่ 2 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่เช่นเดิม ส่วนการบังคับชำระหนี้จะดำเนินการโดยวิธีใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 26 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว จะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่เฉพาะจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลาย ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปรส. ไม่ได้เท่านั้นส่วนประกาศของคณะกรรมการ ปรส. ว่าด้วยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็มิได้บังคับว่า เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อปรส. เท่านั้น และโดยสภาพของคดีนี้โจทก์ไม่มีทางยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้เพราะวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2541 ยังไม่มีประกาศของคณะกรรมการ ปรส. ออกมาใช้บังคับ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share