คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และโจทก์ต่อศาลแพ่งว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 และเจ้าของรวมคนอื่น ขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ซึ่งคดีดังกล่าวโจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นเจ้าของรวม จำเลยที่ 3 เชิดหรือยอมให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทน จำเลยที่ 3 จึงปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ไม่ได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวซึ่งต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท 3 ใน 7 ส่วน การที่จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์โดยจำเลยที่ 3 และเจ้าของรวมคนอื่นมิได้ยินยอมและมิได้เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาดังกล่าวได้ โดยพิพากษาให้เพิกถอนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของจำเลยที่ 3 จำนวน 3 ใน 7 ส่วน คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์จะมาฟ้องคดีนี้ให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท และให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีที่จำเลยทั้งสี่ฟ้องร้องกันโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว จำเลยอื่นร่วมกับจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาลวงและฉ้อฉลโจทก์โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าว อันเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่โจทก์ต้องผูกพันหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ในการฟ้องขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246,247และกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2169 ตำบลบึงลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจำนองไว้ที่ธนาคารทหารไทย จำกัดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2530 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 ในราคา 3,600,000 บาท โจทก์ชำระเงินในวันทำสัญญา 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งกำหนดในวันที่ 22 เมษายน 2531 จำเลยที่ 1ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยที่ 1ปฏิบัติตามสัญญา ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์หรือนางสาววิไล โกวพัฒนกิจ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 495/2531 ของศาลชั้นต้น ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวราคาที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2169 สูงขึ้นมาก จำเลยที่ 1 เสียดายจึงขอยกเลิกสัญญากับโจทก์หลายครั้งโดยจะจ่ายค่าตอบแทนให้ แต่โจทก์ไม่ยินยอมจำเลยที่ 1 โดยทุจริตและทำการฉ้อฉลโจทก์ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาและพี่ชายแสร้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ศาลจังหวัดสระบุรี โดยไม่ให้โจทก์ทราบว่านายผดุงศักดิ์ เทพพัตราก่อนจะถึงแก่กรรมได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2169 แล้วมอบให้จำเลยที่ 1ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การสนับสนุนข้ออ้างตามคำฟ้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยรับว่าจำเลยทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน พร้อมกับยื่นบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2524 ว่าจำเลยทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาท้ายคำให้การของจำเลยที่ 1 และได้แสดงเจตนาลวงฉ้อฉลโจทก์ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาลจังหวัดสระบุรีตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 180/2535 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบและได้รับความเสียหาย โจทก์ทราบเหตุเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม2535 ขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2524 เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 180/2535 ของศาลจังหวัดสระบุรีและคำพิพากษาคดีดังกล่าว

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2169 ที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว แต่เป็นที่ดินที่จำเลยทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงดี ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต และไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และจำเลยอื่นจึงตกเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 495/2531 ของศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก็ไม่อาจนำมาบังคับแก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ การดำเนินคดีของจำเลยที่ 1 ที่ศาลจังหวัดสระบุรีและการประนีประนอมยอมความเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2524 สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดสระบุรี จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 3 ส่วนใน 7ส่วน ซึ่งยังไม่ได้มีการแบ่งแยกกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปทำสัญญาจะขายให้โจทก์ สัญญาจะซื้อจะขายไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 31มีนาคม 2535 ระหว่างจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 180/2535 ของศาลจังหวัดสระบุรี

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

ขณะคดีอยู่ในกำหนดเวลายื่นฎีกา นางมุ้ยเอ็ง แซ่เบ๊ ถึงแก่กรรม นายจรูญเทพพัตรา ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วได้ความว่า นายจรูญเป็นบุตรของนางมุ้ยเอ็งและเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับนายผดุงศักดิ์ เทพพัตราจึงอนุญาตให้นายจรูญเข้าเป็นคู่ความแทน

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2531 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2530 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2169 ตำบลบึงลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และสิ่งปลูกสร้างในที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ต้องชำระราคาที่ยังค้างชำระจำนวน 2,600,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 495/2531 ของศาลชั้นต้น ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2535 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดสระบุรีขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าว วันที่ 31 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ว่าทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าที่ดินโฉนดดังกล่าวนั้นเป็นของจำเลยที่ 2 จำนวน 3 ส่วน จำเลยที่ 3 จำนวน 3 ส่วน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 จำนวน1 ส่วน ตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2524 จำเลยที่ 1 จะไปดำเนินการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวมตามส่วนดังกล่าว ศาลจังหวัดสระบุรีพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 180/2535 ของศาลจังหวัดสระบุรี วันที่ 4 พฤษภาคม 2535 จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 และโจทก์ต่อศาลแพ่งว่าจำเลยที่ 3 ที่ 2 และที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 1ในที่ดินโฉนดดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 นำที่ดินทั้งแปลงไปขายให้แก่โจทก์โดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 และเจ้าของรวมคนอื่น ขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2530 โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทจำเลยที่ 3 เชิดหรือยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยที่ 3 จึงปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวไม่ได้ ศาลแพ่งพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม2530 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของจำเลยที่ 3 จำนวน 3 ใน 7 ส่วน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5689/2539 ของศาลแพ่ง ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท 3 ใน 7 ส่วน จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาททั้งแปลงรวมทั้งส่วนของจำเลยที่ 3 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 มิได้ให้ความยินยอมและมิได้เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาดังกล่าวได้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2885/2541 ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และโจทก์ต่อศาลแพ่งว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 และเจ้าของรวมคนอื่น ขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ในคดีนั้นโจทก์ให้การว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นเจ้าของรวม จำเลยที่ 3 เชิดหรือยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยที่ 3 จึงปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ไม่ได้ซึ่งถือได้ว่าเป็นการต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาคดีดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท 3 ใน 7 ส่วน จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาททั้งแปลงรวมทั้งส่วนของจำเลยที่ 3 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 และเจ้าของรวมคนอื่นมิได้ให้ความยินยอมและมิได้เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาดังกล่าวได้ พิพากษาให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม 2530เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของจำเลยที่ 3 จำนวน 3 ใน 7 ส่วน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2885/2541 โจทก์เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์จะมาฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 180/2535 ของศาลจังหวัดสระบุรี โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว จำเลยอื่นได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาลวงและฉ้อฉลโจทก์โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าว อันเป็นการอ้างข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่โจทก์ต้องผูกพันหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ในการฟ้องขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247 คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share