คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 522/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากที่จำเลยกับผู้เสียหายโต้เถียงกันแล้ว ผู้เสียหายกลับไปบ้านพักจำเลยกลัวว่าผู้เสียหายจะไปนำอาวุธปืนมายิงตน จำเลยจึงกลับไปนำเอาอาวุธปืนที่บ้านตน เมื่อกลับมาที่บ้านผู้ตาย จำเลยเห็นบริเวณเอวของผู้เสียหายมีสิ่งของซึ่งเชื่อว่ามีอาวุธปืนพกอยู่ จำเลยจึงยิงผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อคำนึงถึงระยะทางและระยะเวลาตลอดทั้งสภาพของตัวจำเลยที่อยู่ในอาการมึนเมา ประกอบกับจำเลยมีอารมณ์โกรธที่ไก่ของจำเลยหลายตัวตายเพราะกินข้าวคลุกยาเบื่อซึ่งจำเลยเชื่อว่าผู้เสียหายเป็นผู้ใช้ข้าวคลุกยาเบื่อให้ไก่ของจำเลยกิน ทำให้จำเลยมีความเครียดและสับสน ทั้งต้องมาโต้เถียงกับผู้เสียหายอย่างรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอีก ด้วยสภาวะการณ์เช่นนี้จำเลยไม่สามารถที่จะคิดใคร่ครวญหรือวางแผนในการฆ่าผู้เสียหาย เพราะการยิงผู้อื่นในลักษณะที่มีผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยอยู่ล้อมรอบย่อมเป็นข้อชี้ชัดว่าจำเลยมิได้คิดทำการให้รอบคอบเพื่อมิให้ตนต้องมีความผิดได้รับโทษโดยง่าย เชื่อได้ว่าจำเลยมิได้คิดไตร่ตรองไว้ก่อนแต่อย่างใด ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่เมื่อจำเลยยิงผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 60 อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนยาวประจุปากชนิดประกอบขึ้นเอง ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนอาวุธปืนของเจ้าพนักงาน 1 กระบอก และลูกปืนประจุปากพร้อมเม็ดตะกั่ว 1 นัดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน จำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายสุรัตน์ สิทธิช่วย และนายวิชัย จันทร์พิมล ผู้ตาย 1 นัด โดยเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย และถูกนายสุรัตน์ที่บริเวณใบหูขวาและขมับขวา เป็นเหตุให้นายสุรัตน์ได้รับอันตรายแก่กาย เจ้าพนักงานยึดอาวุธปืนยาวประจุปากเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 371, 33, 60, 80, 91พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) ประกอบมาตรา 80 มาตรา 289(4) ประกอบมาตรา 60 และมาตรา 371พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิตฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลงโทษฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตคงจำคุก 3 เดือน รวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายวิชัย จันทร์พิมล ผู้ตายและนายสุรัตน์สิทธิช่วย ผู้เสียหาย จำนวน 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและถูกผู้เสียหายที่ใบหูขวาและขมับขวา เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า กรณีสมควรลดโทษให้แก่จำเลยเหลือเป็นโทษจำคุก50 ปี หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามกันว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก่อน เห็นว่าปรากฏจากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมายจ.5 ว่า หลังจากที่จำเลยกับผู้เสียหายโต้เถียงกันแล้ว ผู้เสียหายกลับไปบ้านพัก จำเลยกลัวว่าผู้เสียหายจะไปนำอาวุธปืนมายิงตน จำเลยจึงกลับไปนำเอาอาวุธปืนที่บ้านตนเมื่อกลับมาที่บ้านผู้ตาย จำเลยเห็นบริเวณเอวของผู้เสียหายมีสิ่งของ จำเลยเชื่อว่ามีอาวุธพกอยู่จำเลยจึงยิงผู้เสียหาย เมื่อคำนึงถึงระยะทางและระยะเวลาตลอดทั้งสภาพของตัวจำเลยซึ่งอยู่ในอาการมึนเมาสุรา ประกอบกับจำเลยมีอารมณ์โกรธที่ไก่ของจำเลยหลายตัวตายเพราะกินข้าวคลุกยาเบื่อ โดยจำเลยเชื่อว่าผู้เสียหายใช้ข้าวคลุกยาเบื่อให้ไก่ของจำเลยกิน ทำให้จำเลยมีความเครียดและสับสน ทั้งต้องมาโต้เถียงกับผู้เสียหายซึ่งจำเลยปักใจเชื่อว่าเป็นผู้ทำให้ไก่ของตนตายและโต้เถียงกันรุนแรง ด้วยสภาวการณ์เช่นนี้จำเลยไม่สามารถที่จะคิดใคร่ครวญหรือวางแผนในการฆ่าผู้เสียหายเพราะการยิงผู้อื่นในลักษณะที่มีผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยอยู่ล้อมรอบย่อมเป็นข้อชี้ชัดว่าจำเลยไม่ได้คิดทำการให้รอบคอบเพื่อมิให้ตนต้องมีความผิดได้รับโทษโดยง่ายรูปการณ์เช่นนี้น่าเชื่อว่าจำเลยมิได้คิดไตร่ตรองไว้ก่อนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงไม่ชอบ แม้จำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และ 195 วรรคสองประกอบมาตรา 215 และ 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก50 ปี นั้นเห็นว่า โทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยหนักเกินไป จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 60 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี รวมกับโทษจำคุกฐานมีและพาอาวุธปืนฯ แล้ว คงจำคุก 10 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share