คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4499/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา จึงเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมกันรับผิดชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นเงิน 150,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 200,000 บาท โดยดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้องไม่นำมาคำนวณรวมเป็นทุนทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 190 (1) คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2541 จำเลยที่ 1 มอบ อำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นทนายความยื่นฟ้องนางหลี กับพวก ต่อศาลจังหวัดมุกดาหารเป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 705/2541 เรื่อง ยืม จำนอง ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2542 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับชื่อ นามสกุล และที่อยู่ของจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นนางหลี หรือนางวิไล (ชื่อโจทก์) โดยระบุว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน ทำให้โจทก์ซึ่งไม่เคยเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้รับสำเนาคำฟ้องในคดีดังกล่าวแล้วได้ติดต่อแจ้งพนักงานของจำเลยที่ 1 สาขามุกดาหาร พร้อมกับนำเอกสารไปแสดงว่าโจทก์กับนางหลีจำเลยในคดีดังกล่าวที่ถูกฟ้องมิใช่เป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่จำเลยทั้งสามมิได้ดำเนินการอย่างไรจนกระทั่งโจทก์ได้รับหมายนัดสืบพยานจึงได้หาทนายความต่อสู้คดี และวันที่ 10 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 3 ยอมรับว่าโจทก์เป็นบุคคลคนละคนกับจำเลยในคดีดังกล่าวโดยได้ขอแก้ไขคำฟ้อง ไม่ติดใจดำเนินคดีกับโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องว่าจ้างทนายความต่อสู้คดี 110,000 บาท ค่าพาหนะเดินทาง 40,000 บาท และค่าเสียหายต่อชื่อเสียง 50,000 บาท รวมเป้นเงิน 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ได้มอบเอกสารต่าง ๆ ในการดำเนินคดีแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทนายความ และทราบภายหลังว่าจำเลยที่ 3 แก้ไขคำฟ้องทำให้ตรงกับชื่อของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ จำเลยที่ 3 ก็ได้แก้ไขให้ถูกต้อง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย เหตุความผิดพลาดดังกล่าวก็เนื่องมาจากคนสัญชาติญวนมีชื่อซ้ำตรงกันและมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเดียวกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อ โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 กันยายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมกันรับผิดชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นเงิน 150,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 200,000 บาท โดยดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้องไม่นำมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 190 (1) คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ดำเนินคดีแก่นางหลีกับพวกลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ซึ่งถือว่าเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง มิใช่ข้อกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อต่อมาที่ว่า การว่าจ้างจำเลยที่ 3 เป็นทนายความเป็นสัญญาจ้างทำของ เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำนอกเหนือในการงานที่สั่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2

Share