คำวินิจฉัยที่ 100/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแต่ถูกจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของโจทก์ และ คัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง กับให้ถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่เจ้าของเดิมขายให้แก่รัฐบาลและเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย โฉนดที่ดินของโจทก์ออกทับที่ดินอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๐/๒๕๕๖

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดอำนาจเจริญ
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอำนาจเจริญโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เกียรติอำนาจเจริญ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ กรมชลประทาน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๗๒๖/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์ซึ่งมีนายวิรัตน์ ตยางคนนท์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๘๖ ตำบลบุ่ง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ เดิมที่ดินของโจทก์มีเอกสารสิทธิ์เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) มีนายวิทยา วรรณวัลย์ เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๖๐ ตารางวา ในปี ๒๕๐๕ นายวิทยาขายที่ดินบางส่วนให้แก่รัฐบาลเพื่อใช้เป็นอ่างเก็บน้ำและขายที่ดินส่วนที่เหลือให้นายพิชัย โกศัลวิตร ต่อมานายพิชัยได้นำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดิน ในการรังวัดมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงและผู้แทนของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ลงลายมือชื่อรับรองแนวเขต และผลการรังวัดปรากฏว่าที่ดินมีเนื้อที่เพิ่มขึ้น ต่อมาปี ๒๕๑๖ เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๘๖ ให้แก่นายพิชัย จากนั้นนายพิชัยได้ขายที่ดินให้นายวิรัตน์ซึ่งเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาโดยตลอดและขายที่ดินให้แก่โจทก์ในเวลาต่อมา ในปี ๒๕๓๑ จำเลยที่ ๑ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ ๓๙๖๖๑ ทับที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๓ งาน ๗๔ ตารางวา โจทก์ได้คัดค้านไว้แล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ไม่รอการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ทำให้โจทก์ไม่สามารถทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่พิพาทได้ โดยเมื่อโจทก์ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินเพื่อขายให้ผู้จะซื้อ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัด เป็นการโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินและเป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ออกทับที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า บริเวณที่พิพาทเดิมเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) มีนายวิทยา วรรณวัลย์ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๑๒ ตารางวา ไม่ใช่ ๒๑ ไร่ ๖๐ ตารางวา ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ต่อมาเมื่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งครอบครองดูแลที่สาธารณประโยชน์ (ห้วยปลาแดก) มอบที่ดินให้จำเลยที่ ๓ ทำอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน ได้มีการซื้อที่ดินจากราษฎรรวมถึงที่พิพาทด้วย โดยนายวิทยาได้ขายที่ดินให้จำเลยที่ ๓ เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๑๒ ตารางวา จึงเหลือที่ดินอยู่เพียงเล็กน้อย แต่ที่ดินตาม น.ส. ๓ ของนายวิทยามีการแก้ไขตัวเลขเนื้อที่ และในปี ๒๕๐๙ นายวิทยาขายที่ดินตาม น.ส. ๓ เดิมให้นายพิชัย โกศัลวิตร ซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ขายให้รัฐบาลและกลายเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันแล้ว การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่นายพิชัยนำ นส. ๓ ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาออกโฉนดที่ดิน โฉนดที่ดินดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทับที่ดินอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน ดังนั้นเมื่อนายพิชัยขายที่ดินให้นายวิรัตน์ ตยางคนนท์ และนายวิรัตน์ขายต่อให้โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่พิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองอุบลราชธานี
ศาลจังหวัดอำนาจเจริญพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงซึ่งโจทก์อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาว่าจะมีคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้หรือไม่ ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการรับรองเขตที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากออกทับที่ดินของโจทก์ และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายและไม่สามารถทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับผู้จะซื้อได้ จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับประเด็นปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทหรือที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งศาลจะพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริง และการพิจารณาปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ศาลปกครองจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๘๖ แต่จำเลยที่ ๑ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ ๓๙๖๖๑ ทับที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ ๗ ไร่ ๓ งาน ๗๔ ตารางวา เมื่อโจทก์ยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินเพื่อขายให้ผู้จะซื้อ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้าน ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่ออกทับที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ถอนคำคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่พิพาทเป็นแปลงเดียวกันกับที่นายวิทยา วรรณวัลย์เจ้าของเดิมซึ่งมีสิทธิตาม น.ส. ๓ ได้ขายให้แก่รัฐบาลและกลายเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันไปแล้ว การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมาย โฉนดที่ดินของโจทก์ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและทับที่ดินอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด เกียรติอำนาจเจริญ โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ กรมชลประทาน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share