คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1079/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีภริยาจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน และทำสัญญากันไว้ว่าให้ภริยาเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรโดยสามียอมส่งเงินค่าเลี้ยงดูบุตรให้ตามจำนวนที่กำหนด สัญญาดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างสามีภริยาซึ่งมีอยู่และจะมีขึ้นให้เสร็จกันไป จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
เมื่อสามีผิดสัญญาไม่ส่งเงินค่าเลี้ยงดูบุตร การที่ภริยามาฟ้องเรียกเงินค่าเลี้ยงดูบุตรจึงเป็นการฟ้องเรียกร้องให้สามีชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หาใช่เป็นคดีที่กล่าวอ้างถึงสิทธิเกี่ยวแก่บุตรที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536 อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลคดีเด็กและเยาวชนไม่
ตามสัญญาระบุว่า เมื่อภริยาสมรสใหม่จะต้องส่งบุตร 2 ใน 4 คนคืนแก่สามี หากภริยาส่งบุตร 2 คนคืนแก่สามีแล้ว สามีจะส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูเฉพาะบุตรที่อยู่กับภริยาโดยลดจำนวนเงินลง ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าสามีไม่ประสงค์รับบุตรไปอยู่ด้วยสามีก็ต้องส่งค่าเลี้ยงดูบุตรตามเดิม แต่ไม่ต้องส่งค่าเลี้ยงดูภริยาซึ่งสมรสใหม่แล้ว (ข้อกฎหมายตามวรรคแรกและวรรคสอง วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2512)

ย่อยาว

โจทก์จำเลยสองสามีภริยามีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด แต่โจทก์ยื่นคำร้องว่าได้จดทะเบียนหย่ากันที่จังหวัดพระนคร อันเป็นมูลกรณีที่ก่อให้เกิดการฟ้องร้อง และพยานส่วนมากอยู่ในจังหวัดพระนครจึงขออนุญาตฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งอนุญาต

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาหย่าไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตร 4 คนซึ่งมอบให้อยู่ในความปกครองของโจทก์ นับแต่เดือนกันยายน 2506 ตามสัญญา จำเลยจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรร้อยละ 35 ของเงินเดือนคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินค้างจ่าย 13,597.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยจ่ายต่อไปตามสัญญาจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ

จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์สมรสใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 หมดสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู และโจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งบุตรคืนให้จำเลย ไม่มีสิทธิอาศัยสัญญามาฟ้องหากมีสิทธิก็เรียกได้ไม่เกินร้อยละ 20 และตัดฟ้องว่า คดีนี้เป็นคดีเรียกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ อยู่ในอำนาจศาลคดีเด็กและเยาวชน ไม่อยู่ในอำนาจศาลแพ่ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงดูบุตรค้างส่ง รวม 13,597.50 บาท แต่ให้เสียดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเฉพาะจำนวนเงิน 7,770 บาท และให้จำเลยส่งค่าเลี้ยงดูบุตรในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนทุก ๆ เดือน นับแต่เดือนมิถุนายน2508 แก่บุตร 2 คน ที่โจทก์เลือกไว้จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยส่งอีกร้อยละ 15 ของเงินเดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2508 แก่บุตรอีก 2 คนที่โจทก์เลือกเพื่อจะส่งไปให้จำเลย แต่ยังอยู่กับโจทก์จนกว่าจำเลยจะจัดการให้โจทก์ส่งบุตรให้ตามสัญญา

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยไม่ต้องส่งเงินอีกร้อยละ 15 ของเงินเดือนให้แก่บุตร 2 คนสำหรับที่ค้างส่ง 21 เดือน และต่อ ๆ ไปจนกว่าโจทก์จะส่งบุตร 2 คนไปให้จำเลย

โจทก์ จำเลยฎีกา

ข้อเท็จจริงได้ความในเบื้องต้นว่า โจทก์จำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน และได้ตกลงกันเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรตามบันทึกท้ายการจดทะเบียนว่า ระหว่างอยู่กินด้วยกัน โจทก์จำเลยมีบุตรด้วยกัน 4 คน ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าให้อยู่กับโจทก์ฝ่ายเดียวตลอดไปจนกว่าโจทก์จะทำการสมรสใหม่ เมื่อสมรสใหม่เมื่อใด โจทก์จะมอบบุตร 2 คนคืนไปอยู่กับจำเลยโดยโจทก์เป็นฝ่ายเลือกบุตรก่อนจำเลยตกลงจะเป็นผู้ส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร 4 คนเป็นเงินร้อยละ 35 ของเงินเดือน จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะเมื่อโจทก์สมรสใหม่และส่งมอบบุตรคืนให้แก่จำเลย 2 คนแล้ว จำเลยจะส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูเฉพาะบุตรที่อยู่กับโจทก์เพียงร้อยละ 20 ของเงินเดือนจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ

มีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลแพ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่

ศาลฎีกาได้พิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ว่า เห็นว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยสืบเนื่องมาจากโจทก์จำเลยตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันและจำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรและยอมส่งเงินค่าเลี้ยงดูบุตร ซึ่งโดยหน้าที่แล้วจำเลยเป็นผู้ปกครองและเลี้ยงดูบุตรในฐานะที่เป็นบิดา สัญญาดังกล่าวจึงเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จกันไปอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉะนั้น ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาใช่เป็นคดีที่กล่าวอ้างถึงสิทธิเกี่ยวแก่บุตรที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางไม่ศาลแพ่งจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยจะต้องส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาในระยะที่ค้างส่งให้โจทก์เป็นเงินเท่าใด และที่จะต้องส่งต่อไปอีกเป็นจำนวนเท่าใด

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อโจทก์สมรสใหม่แล้วจำเลยไม่ประสงค์เอาบุตรไปอยู่กับจำเลยเอง การที่บุตรอยู่กับมารดาโจทก์ก็ไม่แตกต่างกับอยู่กับโจทก์ ดังนั้นที่จำเลยว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งบุตร 2 คนไปให้เมื่อสมรสใหม่จึงฟังไม่ได้ และที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มีสามีใหม่แล้ว จำเลยควรส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาเพียงร้อยละ 20 ของเงินเดือน ก็ฟังไม่ขึ้น

เมื่อจำเลยไม่ประสงค์เอาบุตร 2 คนไปเลี้ยง จำเลยก็มีหน้าที่ส่งเงินค่าเลี้ยงดูบุตร 4 คนตามเดิม แต่ที่ตกลงกันไว้ร้อยละ 35 ของเงินเดือนนั้น ตามสัญญากล่าวว่าเมื่อโจทก์สมรสใหม่ จำเลยจะส่งค่าเลี้ยงดูให้เฉพาะบุตรเท่านั้น ส่วนของโจทก์และบุตรเท่าใดสัญญามิได้แยกไว้ ศาลฎีกาจึงคิดหักส่วนของโจทก์โดยเฉลี่ย 1 ใน 5 เหลือสำหรับบุตร 4 คน ร้อยละ 28 ของเงินเดือนที่จำเลยได้รับในขณะที่จะต้องส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญา ซึ่งจำเลยได้รับเดือนละ 1,750 บาท รวมค้างส่ง 21 เดือน เป็นเงิน 10,290 บาท

สำหรับดอกเบี้ยนั้น โจทก์ชอบที่จะเรียกได้จากจำนวนเงินค่าเลี้ยงดูบุตรที่จำเลยค้างส่ง แต่ศาลชั้นต้นให้ดอกเบี้ยเฉพาะในเงินจำนวน 7,770 บาท โจทก์พอใจไม่อุทธรณ์ และในชั้นฎีกาโจทก์ก็ฎีกาขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จึงได้ดอกเบี้ยเท่าที่ศาลล่างพิพากษา

พิพากษาแก้ ให้จำเลยส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร 4 คนที่ค้างส่ง 10,290 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงินจำนวน 7,770 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้ง 4 คนในอัตราร้อยละ 28 ของเงินเดือนที่จำเลยได้รับต่อไปทุก ๆ เดือน นับแต่เดือนมิถุนายน 2508 จนกว่าจำเลยจะรับบุตร 2 คนไปตามสัญญา และจนกว่าบุตรที่อยู่กับโจทก์จะบรรลุนิติภาวะ หากจำเลยเอาบุตร 2 คนไปเมื่อใด จำเลยจึงต้องส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร 2 คน ที่อยู่กับโจทก์เพียงร้อยละ 20 ของเงินเดือนที่จำเลยได้รับในขณะที่ต้องส่งเงินนั้น

Share