คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5970/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้รับทุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติซึ่งให้แก่รัฐบาลไทยผ่านทางกรมวิเทศสหการให้ไปศึกษาต่อมีกำหนด2 ปี โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ว่าเมื่อเสร็จการศึกษาจำเลยที่ 1จะกลับมารับราชการต่อไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่ได้รับทุน หากผิดสัญญายอมชดใช้คืนเงินทุนและเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ได้รับจากทางราชการพร้อมเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินที่ต้องชดใช้คืน และจะชำระให้เสร็จภายใน 30 วัน ถัดจากวันที่ได้รับแจ้ง หากไม่ชำระภายในกำหนดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ยังไม่ได้ชำระอีกร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 1 ศึกษาครบ 2 ปี แล้วไม่สำเร็จ ได้ลาศึกษาต่อด้วยเงินส่วนตัวเป็นเวลาอีก 7 เดือน 2 วันจำเลยที่ 1 กลับมารับราชการต่อเพียง 34 วัน แล้วลาออกจากราชการจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินทุนคืนตามส่วนของเวลาที่รับราชการขาดไปเฉพาะส่วนที่ลาศึกษาต่อโดยรับเงินทุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ส่วนเวลาที่จำเลยที่ 1 ศึกษาต่อด้วยเงินส่วนตัวจะเอามารวมกับระยะเวลาที่ศึกษาต่อโดยเงินทุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติไม่ได้ จำเลยที่ 1 ยื่นใบลาออกจากราชการก่อนเจ้าหน้าที่ของโจทก์แจ้งต่อโจทก์ถึงจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องภายในระหว่างโจทก์กับเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะอ้างข้อบกพร่องดังกล่าวเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดตามสัญญาไม่ได้ คู่สัญญากำหนดวิธีการคิดดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าแล้วว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายอมชดใช้เงินทุน เงินเดือน หรือเงินอื่นใดที่ได้รับจากทางราชการพร้อมเบี้ยปรับให้เสร็จภายใน 30 วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้ง หากไม่ชำระภายในกำหนดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ยังไม่ได้ชำระอีกร้อยละ 15 ต่อปี จึงต้องคิดดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์ขอให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1ลาออกจากราชการไม่ได้ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้วันที่ 1 ธันวาคม 2520 ระบุให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน จำเลยที่ 1มีสิทธิชำระหนี้ให้โจทก์ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2520 แต่ไม่ชำระจำเลยที่ 1 จึงผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2521 ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2520 ยังคลาดเคลื่อนอยู่ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อกำหนดเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายจำนวนพอสมควรแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอีก แต่เงินทุนและค่าปรับของเงินทุนเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 รับราชการในกรมโจทก์จำเลยที่ 1 ได้รับทุนการศึกษาขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้แก่รัฐบาลไทยไปศึกษายังประเทศออสเตรเลียจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาไว้กับโจทก์ตามระเบียบราชการโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยสัญญาว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะกลับมารับราชการในกรมโจทก์ต่อไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือน จำเลยที่ 1 จะต้องรับราชการในกรมโจทก์นับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2520 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 5 ปี 2 เดือน 4 วัน แต่จำเลยที่ 1ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2520 จำเลยที่ 1ได้ชำระเงินเดือนที่ได้รับไปในระหว่างลาศึกษาต่อคืนโจทก์พร้อมเบี้ยปรับแล้ว แต่มิได้คืนเงินทุนที่ได้รับไปจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินทุนคืนตามส่วนพร้อมเบี้ยปรับรวม 39,454 เหรียญสหรัฐอเมริกาโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามอัตราที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันยื่นฟ้องและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ให้โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 39,454 เหรียญสหรัฐอเมริกาคิดเป็นเงินไทย 1,023,436.70 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2520 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติด้วยตนเองโดยไม่ได้ผ่านโจทก์ โจทก์มิใช่เจ้าของเงินจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ลาไปศึกษาต่อด้วยทุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม 2517 ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2519 เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2519 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2520 จำเลยที่ 1ลาศึกษาต่อด้วยเงินส่วนตัว ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับมีไม่เกิน39,241 เหรียญออสเตรเลีย ทั้งจำเลยที่ 1 ได้แจ้งความประสงค์จะขอลาออกจากราชการ โจทก์ได้คิดคำนวณยอดเงินค่าเสียหายเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ได้ออกหลักฐานเพื่อเป็นการแสดงต่อบุคคลภายนอกว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้ใด ๆ ติดค้างโจทก์อีกอันเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้แก่ลูกหนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงให้ชำระหนี้ตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ได้รับทุนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,089 เหรียญออสเตรเลีย ไม่ใช่เหรียญสหรัฐอเมริกาฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติที่มอบให้ข้าราชการสังกัดโจทก์ มิได้มอบให้รัฐบาลไทยโดยตรง เจ้าของทุนเพียงแต่กำหนดว่าผู้รับทุนควรกลับมารับราชการอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งอธิบดีของโจทก์ได้มีหนังสือรับรองว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชดใช้เงินทุน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด แม้จำเลยที่ 1 จะกลับมาทำงานให้โจทก์ไม่ครบตามสัญญา แต่ก็ได้นำเงินเดือนที่ได้รับระหว่างลาศึกษาต่อพร้อมเบี้ยปรับมาชดใช้ให้โจทก์ถูกต้องแล้ว การที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการก็นับได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำของโจทก์ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินจำนวน 508,973.22 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2520 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นจึงถือว่าจำเลยที่ 2ไม่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกามีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้เงินทุนกับเบี้ยปรับและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่าเงินทุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเป็นเงินที่ให้จำเลยที่ 1 นำไปใช้จ่ายในระหว่างลาไปศึกษาต่อต่างประเทศมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 กลับมาจากศึกษาต่อจะต้องรับราชการชดใช้เงินทุนดังกล่าวอีกไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุนคือไม่น้อยกว่าเวลา 4 ปี หรือ1,460 วัน แต่จำเลยที่ 1 กลับมารับราชการอยู่กับโจทก์เพียง34 วัน แล้วลาออกจากราชการไป จำเลยที่ 1 จึงรับราชการชดใช้เงินทุนดังกล่าวขาดไป 1,426 วัน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินทุนคืนตามส่วนของเวลาที่รับราชการขาดไป คำนวณแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินทุนคืนทั้งหมด 19,621,173 เหรียญสหรัฐอเมริกา(วิธีคำนวณ 20,089 X 1,426 หาร 1,460 เท่ากับ 19,621.173)เมื่อคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันฟ้อง 1 เหรียญสหรัฐอเมริกา เท่ากับ25.94 บาท แล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้เงินทุนคืนโจทก์เป็นเงิน508,973.22 บาท ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 1ขอลาศึกษาต่อช่วงที่ 2 เป็นเวลาอีก 7 เดือน 2 วัน นั้น จำเลยที่ 1ใช้จ่ายด้วยเงินส่วนตัว ไม่ได้ใช้เงินทุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระยะเวลาที่ลาศึกษาต่อช่วงที่ 2 โจทก์จะเอามารวมกับระยะเวลาการลาศึกษาต่อช่วงที่ 1 เพื่อนำไปคำนวณในการชดใช้เงินทุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าหากจำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้เงินทุนช่วงที่ 1 ครบ 4 ปี แล้ว ต่อมาในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้การลาศึกษาต่อช่วงที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากราชการไปจำเลยที่ 1 ก็จะต้องรับผิดชดใช้เงินทุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ คืนให้โจทก์อยู่อีก ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ข้ออ้างตามฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไป จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระค่าปรับและดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงใด เห็นว่า ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1ยื่นใบลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2520 โดยให้มีผลวันลาออกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2520 แล้วต่อมาทางเจ้าหน้าที่กองการเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ทำบันทึกแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินเดือนที่ได้รับไปในระหว่างลาศึกษาต่อให้โจทก์กับค่าปรับอีกหนึ่งเท่ารวมเป็นเงิน 153,720 บาท ในเรื่องนี้แม้จะเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวที่ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินทุนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติกับค่าปรับให้โจทก์ด้วยเนื่องจากความไม่เข้าใจในข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ความบกพร่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในระหว่างโจทก์กับเจ้าหน้าที่ของโจทก์ทั้งข้อบกพร่องดังกล่าวก็ไม่ใช่เป็นสาเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1เข้าใจว่าตนไม่ต้องชดใช้เงินทุนกับค่าปรับให้โจทก์จึงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการไป เนื่องจากก่อนที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์จะแจ้งให้โจทก์ทราบถึงจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้นั้น จำเลยที่ 1ได้ยื่นใบลาออกจากราชการต่อโจทก์แล้ว ดังนั้น จำเลยที่ 1จะอ้างข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่โจทก์เพื่อยกเป็นเหตุให้ตนพ้นความรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้ต่อโจทก์ย่อมไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากราชการก่อนจะรับราชการชดใช้เงินทุนที่ได้รับไปครบกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้เงินทุนคืนให้โจทก์เป็นเงิน 508,973.22 บาท กับค่าปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนเงินทุนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่1 พฤษภาคม 2520 ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันดังกล่าวนี้จึงต้องเริ่มคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2520 เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า ตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรมณ ต่างประเทศ เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7 ถึง ที่ 8 ข้อ 5 มีใจความว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายอมชดใช้คืนเงินทุนและเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ได้รับจากทางราชการพร้อมเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่าของเงินที่จะต้องใช้คืน และจะชำระให้เสร็จภายในกำหนด 30 วัน ถัดจากวันที่ได้รับแจ้ง หากไม่ชำระภายในกำหนดดังกล่าวยอมให้คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ยังมิได้ชำระอีกร้อยละ 15 ต่อปี ตามข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องคู่สัญญาได้กำหนดวิธีการคิดดอกเบี้ยกันไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงต้องคำนวณดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ ที่โจทก์ฎีกาขอให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการฟังไม่ขึ้น คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2520 ในหนังสือระบุให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน ดังนี้จำเลยที่ 1จึงมีสิทธิชำระหนี้ให้โจทก์ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2520 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2521 และต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันผิดนัดนั้นเป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2520 ยังคลาดเคลื่อนอยู่ปัญหาดังกล่าวนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องแต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้คำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายประกอบกับจำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ค่าปรับเกี่ยวกับเงินเดือนให้โจทก์ไปแล้ว 76,860 บาท นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ก็มีส่วนบกพร่องที่ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับของเงินทุนตั้งแต่แรกที่ลาออกจากราชการ จึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับเฉพาะส่วนนี้ลงกึ่งหนึ่งเหลือ 254,486.61 บาท เมื่อรวมกับเงินทุนที่ต้องชดใช้คืน 508,973.22บาท จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินให้โจทก์ทั้งสิ้น 763,459.83 บาท เมื่อกำหนดเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายจำนวนพอสมควรแล้ว ก็ไม่จำต้องให้ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอีก เงินทุนและค่าปรับของเงินทุนเป็นหนี้เงินโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 สำหรับจำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวด้วยในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 763,459.83บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2521 จนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนในฐานะผู้ค้ำประกันนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share