คำวินิจฉัยที่ 97/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า ได้นำที่ดินทั้งสามแปลงตาม ส.ค. ๑ ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน โดยมีจำเลยที่ ๑ และที่ ๓คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำเลยที่ ๔ จึงมีคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ร่วมกันออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอน น.ส.ล. ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เพิกถอนคำร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินและรับรองแนวเขตที่ดิน และให้จำเลยที่ ๔ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งห้าให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื่องจาก ส.ค. ๑ ไม่ใช่หลักฐานการแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน อีกทั้งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในบริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์พาหนะอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และการออก น.ส.ล. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๗/๒๕๕๖

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๑ นายเคลือบหรือเล็ก สุขสวัสดิ์ โจทก์ที่ ๑ ยื่นฟ้องนายอำเภอท่าศาลา ที่ ๑ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ ๒ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๓ กรมที่ดิน ที่ ๔ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๗๕/๒๕๕๑ และในวันเดียวกัน นายประเสริฐ ธงรอด โจทก์ที่ ๒ และนายจาย สุดคิด โจทก์ที่ ๓ ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าในคดีแรกต่อศาลเดียวกัน เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๗๖/๒๕๕๑ และ ๑๐๗๗/๒๕๕๑ ตามลำดับ ซึ่งศาลสั่งรวมพิจารณาเข้ากับคดีแรก ความว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๙๓ เลขที่ ๙๘ และเลขที่ ๖๔ ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามลำดับ โจทก์ทั้งสามนำที่ดินตาม ส.ค. ๑ ทั้งสามแปลงยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๔ แต่ถูกจำเลยที่ ๑ คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดิน อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และจำเลยที่ ๓ มีหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน อ้างว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันและอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อแบ่งให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดตั้งจำเลยที่ ๕ ต่อมาจำเลยที่ ๔ แจ้งโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยที่ ๓ มีสิทธิดีกว่าโจทก์ทั้งสามและโจทก์ทั้งสามได้ที่ดินมาหลังจากการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้ว จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามได้ โจทก์ทั้งสามเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี ๒๔๘๒ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และเป็นที่ดินอยู่นอกเขตประกาศที่สงวนเลี้ยงสัตว์พาหนะ ที่ ๑/๒๔๗๖ และเมื่อประกาศ ให้ที่สงวนเลี้ยงสัตว์ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของจำเลยที่ ๕ นั้น จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ร่วมกันออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ น.ศ. ๐๑๑๙ และ น.ศ. ๐๒๔๓ เกินกว่าที่สงวนเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว โดยการออก น.ส.ล. เลขที่ น.ศ. ๐๑๑๙ ได้เบียดบัง บุกรุก และทับที่ดินของโจทก์ทั้งสาม การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นการขัดต่อกฎหมาย และ น.ส.ล. เลขที่ น.ศ. ๐๑๑๙ ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน น.ส.ล. เลขที่ น.ศ. ๐๑๑๙ ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เพิกถอนคำร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสามและรับรองแนวเขตที่ดิน และให้จำเลยที่ ๔ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งห้าให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื่องจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ไม่ใช่หลักฐาน การแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน อีกทั้งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในบริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์พาหนะอันเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่เลี้ยงสัตว์พาหนะตั้งแต่ปี ๒๔๗๖ ก่อนที่ได้ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในเวลาต่อมา โจทก์ทั้งสาม จึงไม่อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับเมื่อปี ๒๔๙๗ ได้ และโจทก์ทั้งสามไม่เคยคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแต่อย่างใด การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลคดีตามฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายอื่นประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเจ้าของที่ดิน ตลอดจนพยานหลักฐานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของประชาชน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสามนั้น จำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ ส่วนจำเลยที่ ๓ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ รวมถึงการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินดังกล่าวมิให้ผู้ใดบุกรุก ทำลาย หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน สำหรับการออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา ๕๙ และการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการใช้อำนาจทางปกครอง เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องว่า การคัดค้านการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ คำสั่งปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามของจำเลยที่ ๔ และการออก น.ส.ล. เลขที่ น.ศ. ๐๑๑๙ ทับซ้อนที่ดินของโจทก์ทั้งสามและไม่มีการแจ้งให้ประชาชนทั่วไปทราบ เพื่อคัดค้าน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นการโต้แย้งการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ โดยโจทก์ทั้งสามมีคำขอให้เพิกถอน น.ส.ล. เลขที่ น.ศ. ๐๑๑๙ ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เพิกถอนคำร้องคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินและรับรองแนวเขตที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๔ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม และห้ามจำเลยทั้งห้าพร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้องและรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสาม กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสามได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนว่า การที่นายอำเภอท่าศาลาใช้อำนาจทางปกครองออกประกาศที่สงวนเลี้ยงสัตว์ ประกาศดังกล่าวครอบคลุมที่ดินของโจทก์ทั้งสามหรือไม่ อันเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองของฝ่ายปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี และเป็นเพียงประเด็นย่อยหนึ่ง ในหลายประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณา ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินได้ตามนัยมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน นอกจากนี้ การพิจารณาเพียงเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินย่อมไม่ครอบคลุมทุกประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามที่กล่าวอ้างว่า การออก น.ส.ล. เลขที่ นศ. ๐๑๑๙ มิได้มีการประกาศหรือแจ้งให้ประชาชนที่ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าวรับทราบ เพื่อดำเนินการคัดค้านการออก น.ส.ล. ซึ่งเป็นขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญในการออก น.ส.ล. ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖)ฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสามแปลงตาม ส.ค. ๑ ซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านและเป็นที่ดินอยู่นอกเขตประกาศที่สงวนเลี้ยงสัตว์พาหนะ ที่ ๑/๒๔๗๖ โจทก์ทั้งสามนำ ส.ค. ๑ ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๔ แต่จำเลยที่ ๑ คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดิน อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม และจำเลยที่ ๓ มีหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน อ้างว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันและอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อแบ่งให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดตั้งจำเลยที่ ๕ และจำเลยที่ ๔ มีคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม อ้างว่าจำเลยที่ ๓ มีสิทธิดีกว่าโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสาม ได้ที่ดินมาหลังจากการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ร่วมกันออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ น.ศ. ๐๑๑๙ และ น.ศ. ๐๒๔๓ เกินกว่าที่สงวนเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว โดย น.ส.ล. เลขที่ น.ศ. ๐๑๑๙ ออกทับที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอน น.ส.ล. เลขที่ น.ศ. ๐๑๑๙ ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เพิกถอนคำร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสามและรับรองแนวเขตที่ดิน และให้จำเลยที่ ๔ ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและรบกวน การครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ส่วนจำเลยทั้งห้าให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื่องจาก ส.ค. ๑ ไม่ใช่หลักฐานการแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน อีกทั้งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในบริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์พาหนะอันเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันซึ่งได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่เลี้ยงสัตว์พาหนะตั้งแต่ปี ๒๔๗๖ ก่อนที่ได้ขอออก น.ส.ล. ในเวลาต่อมา โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับเมื่อปี ๒๔๙๗ ได้ และการออก น.ส.ล. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายเคลือบหรือเล็ก สุขสวัสดิ์ ที่ ๑ นายประเสริฐ ธงรอด ที่ ๒ นายจาย สุดคิด ที่ ๓ โจทก์ นายอำเภอท่าศาลา ที่ ๑ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ ๒ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ ๓ กรมที่ดิน ที่ ๔ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share