คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1829/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคล ในกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงที่จะนำสืบว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก ซึ่งหมายเฉพาะในกรณีที่ฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับระหว่างคู่สัญญาตามสัญญาขายฝาก แต่กรณีระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องให้บังคับตามสัญญาขายฝาก หากแต่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน(ประเมินภาษี) ของรัฐไม่เชื่อว่าโจทก์จะไม่มีกำไรในการรับซื้อฝาก เพราะเป็นการผิดวิสัยของผู้มีอาชีพในการซื้อขายที่ดิน จำเลยจึงย่อมมีสิทธิที่จะแสวงหาหลักฐาน เมื่อได้ความจริงก็ย่อมมีอำนาจที่จะประเมินให้โจทก์เสียภาษีใหม่ได้ และย่อมมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบในศาลว่าผู้ขายฝากที่ดินให้แก่โจทก์นั้น ได้รับเงินไม่เต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีเงินได้พึงประเมิณตามมาตรา 40(8) รวม 2 ชนิดคือ เงินได้จากการรับไถ่ถอนการขายฝาก จำนวน 4,567,500 บาท และเงินได้จากการขายที่ดินที่หลุดเป็นสิทธิ เป็นเงิน 1,591,300 บาท ในเดือนกุมภาพันธ์2516 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.9) แสดงรายการเงินได้พึงประเมินจากการรับไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นเงิน 4,567,500 บาท และแสดงรายการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรตามความเป็นจริงคือ ค่ารับซื้อขายฝากเท่าราคาที่รับไถ่ถอนโจทก์จึงไม่มีเงินได้เหลืออยู่แต่โจทก์เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ของจำนวน 4,567,500 บาท ตามนัยมาตรา 48(2) แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการประเมินลงวันที่ 28 มีนาคม 2521 แจ้งว่า โจทก์เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มอีก 386,555 บาท และเงินเพิ่มอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 77,311 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 463,866 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะปัญหาที่ว่า เจ้าพนักงานประเมินคิดหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้โจทก์สำหรับการรับซื้อฝากร้อยละ 85 ไม่ถูกต้อง แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องและชอบแล้ว ไม่มีเหตุผลอันควรผ่อนผันลดเงินเพิ่มให้ และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงต้องนำเงินภาษีไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 463,866 บาทซึ่งเกินกว่าภาษีที่โจทก์ต้องเสียเป็นเงิน 403,306.20 บาท จึงขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน ลงวันที่ 28 มีนาคม 2522 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2523 ให้ทำการประเมินใหม่ และให้จำเลยร่วมกันคืนเงิน403,306.20 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ประกอบธุรกิจในการรับซื้อฝากที่ดินและค่าที่ดินโดยแสวงหาผลกำไร ในการรับซื้อฝากที่ดิน โจทก์ได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าดอกเบี้ย ค่านายหน้า หรือค่าตอบแทน (เงินปากถุง) และค่าธรรมเนียมในการทำสัญญาบางส่วนเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของราคาที่รับซื้อฝาก ฉะนั้นราคาไถ่ถอนจึงเป็นราคาที่รวมดอกเบี้ยหรือประโยชน์อย่างอื่น ๆในการรับซื้อฝากไว้ด้วยแล้ว การที่โจทก์อ้างว่า ค่ารับซื้อฝากกับค่าไถ่ถอนมีจำนวนเท่ากันจึงไม่เป็นความจริง ทั้งจำเลยได้ไต่สวนพยานผู้เกี่ยวข้องกับการขายฝากที่ดินให้โจทก์ได้ความว่าโจทก์มีรายได้สูงกว่าร้อยละ 15 ของราคาทรัพย์สินที่ซื้อฝาก และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานว่ามีค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 85 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8(27) จึงเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบแล้วคดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเต็มจำนวน 4,567,500 บาท เท่าที่จำนวนที่ปรากฏในสัญญาขายฝาก และจำเลยจะนำพยานมาสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงที่จะนำสืบว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีกซึ่งหมายเฉพาะในกรณีที่ฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับระหว่างคู่สัญญาขายฝากแต่กรณีระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องให้บังคับตามสัญญาขายฝาก หากแต่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่เชื่อว่าโจทก์จะไม่มีกำไรในการรับซื้อฝาก เพราะเป็นการผิดวิสัยของผู้มีอาชีพในการซื้อขายที่ดิน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะแสวงหาหลักฐาน และเมื่อได้ความจริงก็ย่อมมีอำนาจที่จะประเมินให้โจทก์เสียภาษีใหม่ได้ ฉะนั้นจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 มาใช้บังคับในกรณีนี้ตามที่โจทก์ฎีกาได้ไม่

และวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเชื่อว่า ในการรับซื้อฝากโจทก์มีรายได้หรือกำไรจากการซื้อฝากเกินกว่าร้อยละ 15 ของราคาที่ปรากฏในสัญญาขายฝาก การที่เจ้าพนักงานประเมินยอมหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้แก่โจทก์ตามกฎหมายร้อยละ 85 จึงเป็นผลดีแก่โจทก์อยู่แล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นการถูกต้อง

พิพากษายืน

Share