แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อกำหนดองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เรื่องกฎทางอากาศและบริการจราจรทางอากาศได้ระบุถึงเครื่องบินขนาดกลางและขนาดเบาที่บินลงตามหลังเครื่องบินขนาดหนักต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยที่สุด 2 นาที และ 3 นาทีตามลำดับแต่ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเครื่องบินลำที่ ส.ขับกับเฮลิคอปเตอร์ของกรมตำรวจต่างเป็นเครื่องบินขนาดเบาทั้งคู่จึงไม่เข้าข่ายข้อกำหนดฯ ตามที่โจทก์อ้างจากรายงานของคณะกรรมการสอบสวนได้ความว่าในทางปฏิบัติหอบังคับการบินหัวหินอนุญาตให้เครื่องบินทั้งสองชนิดลงพร้อมกันได้และข้อเท็จจริงได้ความว่าที่สนามบินหัวหินโจทก์จัดให้เฮลิคอปเตอร์จอดอยู่ห่างจากขอบทางวิ่งของเครื่องบินประมาณ30 เมตร เท่านั้น โดยจุดจอดของเฮลิคอปเตอร์มีมานาน ร่วม 20 ปีแล้ว จึงเป็นความผิดของโจทก์ที่ทำให้จำเลยทั้งสองไม่อาจจัดให้เฮลิคอปเตอร์จอดอยู่ห่างจากขอบทางวิ่ง ของเครื่องบินมากกว่า 90 เมตร ได้กรณีดังกล่าว จึงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความว่าหลังเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน คณะทำงานของคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการทดลอง ณ สนามบินหัวหินเพื่อพิสูจน์ว่าอิทธิพลของกระแสอากาศมวลวนที่เกิดจากเฮลิคอปเตอร์ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อการบินของเครื่องบินหรือไม่ ซึ่งจากผลการทดลองไม่มีกระแสอากาศมวลวนเกิดขึ้น จึงไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเครื่องบินที่ส. ขับได้ถูกกระแสอากาศมวลวนอันเกิดจากเฮลิคอปเตอร์ หลังเกิดคดีนี้โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นผลสรุปเห็นว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง พยานโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิบัตินอกระเบียบข้อบังคับของหอบังคับการบินพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 11,336,650.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 11,001,720.16 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและขั้นตอนที่โจทก์กำหนดไว้ เหตุที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 1 ปีแล้วฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,886,964.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในสังกัดกระทรวงคมนาคม ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย เป็นหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ ตั้งอยู่ที่สนามบินหัวหิน (สนามบินบ่อฝ้าย) รับฝึกสอนการบิน จำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ ทำหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศอยู่ที่สนามบินดังกล่าว นายสมศิลป์ รัตนจันทร์ เป็นนักเรียนที่บริษัทการบินไทย จำกัด ส่งมาฝึกอบรมการบิน โดยมีพันเอกเอนก ดารารักษ์ เจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นครูฝึก เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2528 นายสมศิลป์ทำการฝึกบินเดี่ยว ด้วยเครื่องบินแบบเชสน่า 150 เจของโจทก์ภายใต้การควบคุมดูแลของพันเอกเอนก หลังจากนายสมศิลป์ บินเดี่ยว บนอากาศประมาณ 1 ชั่วโมง ได้วิทยุขออนุญาตจำเลยทั้งสองนำเครื่องบินร่อนลง ขณะเดียวกัน พลตำรวจตรีป้อมเพชร นาคธน ครูฝึกการบินของกรมตำรวจวิทยุขออนุญาตจำเลยทั้งสองนำเฮลิคอปเตอร์ แบบเบลล์ 212ของกรมตำรวจลงจอดที่สนามบินด้วย จำเลยทั้งสองอนุญาตให้พลตำรวจตรีป้อมเพชรนำเฮลิคอปเตอร์ ลงจอดที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์หมายเลข 3 ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นทางวิ่งของสนามบินประมาณ 30 เมตรและอนุญาตให้นายสมศิลป์นำเครื่องบินร่อนลงตามหลังเฮลิคอปเตอร์ ก่อนเวลา 3 นาที ในระหว่างที่พลตำรวจตรีป้อมเพชรนำเครื่องลงจอดโดยยังมิได้ดับเครื่องยนต์และใบพัดประธานของเฮลิคอปเตอร์ ยังไม่หยุดหมุนนายสมศิลป์ ก็ได้นำเครื่องบินร่อนลง ปรากฏว่าเมื่อลดระดับลงเหนือทางวิ่ง เครื่องบินได้เสียหลักกระดอนขึ้นลงหลายครั้งแล้วส่ายไปมาเซออกนอกทางวิ่งไปทางด้านซ้ายพุ่งเข้าชนเฮลิคอปเตอร์ เป็นเหตุให้ใบพัดประธานของเฮลิคอปเตอร์ตัดปีกซ้ายเครื่องบินที่นายสมศิลป์เป็นผู้ขับขาดออกและนายสมศิลป์ได้รับอันตรายสาหัส ต่อมากรมตำรวจได้ฟ้องนายสมศิลป์เป็นจำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ที่ศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้กรมตำรวจเป็นเงิน 7,360,911.16 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนนายสมศิลป์ ให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์มิได้ฎีกา คดีถึงที่สุด และโจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายตามคำพิพากษาให้แก่กรมตำรวจแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประเด็นข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า เครื่องบินแต่ละเครื่องได้รับความเสียหายจำนวนเท่าใด ไม่มีข้อความหรือเอกสารหลักฐานใด ๆ แสดงให้ปรากฏว่าค่าเสียหายเป็นมาอย่างไร เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงค่าเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องจากจำเลยทั้งสองไว้โดยชัดแจ้งแล้ว โดยโจทก์อ้างว่าเครื่องบินของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 114,716 บาท และเฮลิคอปเตอร์ ของกรมตำรวจที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 10,886,964.16 บาท รวมค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 11,001,720.16 บาท ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ค่าเสียหายที่โจทก์บรรยายไว้ย่อมเพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจได้แล้วว่าจำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ให้โจทก์เท่าใดส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายเป็นเรื่องที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ และข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบในรายละเอียดของค่าเสียหายให้ปรากฏนั้นเป็นคนละเรื่องกัน หากโจทก์นำสืบไม่ได้ตามที่จำเลยทั้งสองอ้างศาลอาจไม่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ก็ได้ จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้โดยแจ้งชัดแล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนของค่าเสียหายจึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปเห็นควรนำประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองหรือไม่มาวินิจฉัยก่อน ในข้อนี้ตามคำฟ้องและข้อนำสืบของโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อ เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศเรื่อง กฎทางอากาศและบริการจราจรทางอากาศ โดยอนุญาตให้นายสมศิลป์นำเครื่องบินร่อนลงโดยทิ้งระยะเวลาห่างจากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งลงจอดก่อนไม่ถึง 3 นาที และไม่จัดให้เฮลิคอปเตอร์อยู่ห่างจากขอบทางวิ่งของเครื่องบินมากกว่า 90 เมตร เป็นเหตุให้เกิดกระแสอากาศมวลวนจากเฮลิคอปเตอร์ ที่บริเวณทางวิ่งทำให้เครื่องบินที่นายสมศิลป์กำลังร่อนลงปะทะกับกระแสอากาศมวลวนแล้วเสียการทรงตัวพุ่งเข้าชนกับเฮลิคอปเตอร์ จนเกิดความเสียหายนั้น เห็นว่านายฐานิศร์ วิทยาปรีชากุล นักเรียนฝึกบิน รุ่นเดียวกับนายสมศิลป์และพันตำรวจตรีสิงห์ จาดเจริญ ผู้เชี่ยวชาญการบินเครื่องบินแบบเฮลิคอปเตอร์ ตัวแทนของกรมตำรวจเบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า ระยะเวลาที่ให้เครื่องบินลำหลังตามเครื่องบินลำแรกลงจอดไม่น้อยกว่า 3 นาที นั้น เครื่องบินทั้งสองลำต้องมีขนาดต่างชนิดกัน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการสอบสวน กรณีอันเกี่ยวกับอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร กระทรวงคมนาคม เอกสารหมาย ป.จ.6 ของศาลแพ่ง โดยข้อกำหนดองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เรื่อง กฎทางอากาศและบริการจราจรทางอากาศในหน้า 13 ได้ระบุถึงเครื่องบินขนาดกลางและขนาดเบาที่บินลงตามหลังเครื่องบินขนาดหนักต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยที่สุด 2 นาทีและ 3 นาที ตามลำดับแต่ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาเครื่องบินลำที่นายสมศิลป์ขับกับเฮลิคอปเตอร์ ของกรมตำรวจข้างต้นต่างเป็นเครื่องบินขนาดเบาทั้งคู่จึงไม่เข้าข่ายข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศดังที่โจทก์อ้างและได้ความตามรายงานของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวในหน้า 19 ด้วยว่า ในทางปฏิบัติหอบังคับการบินหัวหินอนุญาตให้เครื่องบินทั้งสองชนิดลงพร้อมกันได้ ส่วนเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่จัดให้เฮลิคอปเตอร์ จอดอยู่ห่างจากขอบทางวิ่งของเครื่องบินมากกว่า 90 เมตรนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าที่สนามบินหัวหินโจทก์จัดให้เฮลิคอปเตอร์ จอดอยู่ห่างจากขอบทางวิ่งของเครื่องบินประมาณ 30 เมตร เท่านั้น โดยจุดจอดของเฮลิคอปเตอร์ ดังกล่าวมีมานานร่วม 20 ปีแล้ว ดังนั้นจึงเป็นความผิดของโจทก์เองที่จำเลยทั้งสองไม่อาจจัดให้เฮลิคอปเตอร์จอดอยู่ห่างจากขอบทางวิ่งของเครื่องบินมากกว่า 90 เมตร ได้กรณีดังกล่าวจึงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้ มีปัญหาต่อไปว่าการที่จำเลยทั้งสองอนุญาตให้นายสมศิลป์นำเครื่องบินร่อนลงตามหลังเฮลิคอปเตอร์โดยทิ้งระยะเวลาห่างไม่ถึง 3 นาที และจัดให้เฮลิคอปเตอร์จอดอยู่ห่างจากขอบทางวิ่งของเครื่องบินประมาณ 30 เมตร เป็นเหตุให้เกิดกระแสอากาศมวลวนจากเฮลิคอปเตอร์ หรือไม่นั้นได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่า หลังเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน ทางคณะทำงานของคณะกรรมการสอบสวนกรณีอันเกี่ยวกับอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักรได้ทำการทดลอง ณ สนามบินหัวหินเพื่อพิสูจน์ว่าอิทธิพลของกระแสอากาศมวลวนที่เกิดจากเฮลิคอปเตอร์ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อการบินของเครื่องบินเพียงใดหรือไม่ ปรากฏผลการทดลองไม่มีกระแสอากาศมวลวนเกิดขึ้นจึงไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเครื่องบินที่นายสมศิลป์ขับได้ถูกกระแสอากาศมวลวนอันเกิดจากเฮลิคอปเตอร์ หรือไม่ ประกอบกับนายสมชาย พิพุทวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายนิติการของโจทก์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า หลังเกิดคดีนี้โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นผลสรุปเห็นว่า จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง และมีนายเชาว์ วัฒนาจินดา กรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการสอบสวนกรณีอันเกี่ยวกับอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร พยานโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิบัตินอกระเบียบข้อบังคับของหอบังคับการบินแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้เครื่องบินที่นายสมศิลป์ขับชนกับเฮลิคอปเตอร์ ของกรมตำรวจนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้ออื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีก”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง