คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ม.ผู้ขายรถยนต์ให้แก่โจทก์จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ไม่อาจโอนขายให้โจทก์ได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้รับโอนรถยนต์ มาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน มีการโอนทะเบียนรถยนต์ โดยเปิดเผย โจทก์ได้ยึดถือรถยนต์ไว้โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน แจ้งย้ายทะเบียนรถยนต์ไปยังภูมิลำเนาของโจทก์ และครอบครอง ใช้ประโยชน์รถยนต์ตลอดมาโจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองรถยนต์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 โจทก์จึงมีสิทธิ ใช้สอยและได้รับประโยชน์จากรถยนต์ มีสิทธิให้ปลดเปลื้อง การรบกวนการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1374 มีสิทธิโอนสิทธิครอบครองตามมาตรา 1378 และอาจได้กรรมสิทธิ์ ในรถยนต์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จึงเป็น ที่เห็นได้ว่าหากมีวินาศภัยเกิดขึ้นแก่รถยนต์ในระหว่างที่อยู่ ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ จากรถยนต์มีสิทธิเอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวไว้แก่จำเลย เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยได้สูญหายไปโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตามสัญญาประกันภัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกันวินาศภัยรถยนต์ไว้แก่จำเลยรวมทั้งความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ไม่เกินจำนวน 200,000 บาทค่าอุปกรณ์ติดประจำรถยนต์อีก 10,000 บาท ต่อมารถยนต์คันดังกล่าวของโจทก์ได้ถูกคนร้ายลักไป ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน239,040.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 210,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ร่วมกับผู้อื่นลักรถยนต์มาจากเจ้าของที่แท้จริง หรือได้มาด้วยการรับของโจรโดยทุจริต แล้วนำมาประกันวินาศภัยไว้แก่จำเลยโดยปกปิดข้อความจริงและแอบอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย สัญญาประกันภัยจึงไม่สมบูรณ์ กรมธรรม์ประกันภัยเป็นโมฆะขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 210,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2527เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 29,040.41 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่ารถยนต์คันพิพาทมีหมายเลขทะเบียนที่แท้จริงคือ 1 ข-9466 กรุงเทพมหานคร เป็นของนายยูกิโอะ ยามาโมโตประธานกรรมการบริษัทไทยเซโรแกรฟฟิคซิสเท็ม จำกัดซื้อมาจากบริษัทวรจักรยนต์ จำกัด เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2527นายยูกิโอะได้เอาประกันรถยนต์คันพิพาทไว้แก่บริษัทไตโชมารีนแอนด์ไฟร์ อินชัวรันส์ จำกัด ในนามของบริษัทไทยเซโรแกรฟฟิคซิสเท็ม จำกัด ในวงเงิน 500,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2527 รถยนต์คันพิพาทถูกคนร้ายลักไป หลังจากนั้นมีผู้ปลอมทะเบียนรถยนต์คันพิพาทเป็นหมายเลขทะเบียน ก-1423 จันทบุรี และปลอมลายมือชื่อนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดจันทบุรี แจ้งย้ายทะเบียนรถยนต์คันพิพาทไปที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุชื่อนายมงคล สุประดิษฐ์เป็นเจ้าของรถได้หมายเลขทะเบียน ก-2069 พระนครศรีอยุธยาต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2527 โจทก์ได้ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากนายมงคลในราคา 220,000 บาท และโอนทะเบียนที่แผนกทะเบียนยานพาหนะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันเดียวกันโดยระบุราคาซื้อขายเป็นจำนวนเงิน 140,000 บาท โจทก์ได้แจ้งย้ายทะเบียนรถยนต์คันพิพาทจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปยังจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นภูมิลำเนาโจทก์ได้หมายเลขทะเบียนใหม่เป็น ก-4833 นครปฐม วันที่ 10 กันยายน 2527 โจทก์ได้เอาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทไว้แก่จำเลยเพื่อประกันวินาศภัยอันเกิดจากการลักทรัพย์ในวงเงิน 200,000 บาท และสำหรับอุปกรณ์ประจำรถยนต์อันได้แก่เครื่องปรับอากาศวิทยุ ล้อแม็กซ์ ในวงเงิน 10,000 บาท มีอายุการประกันภัย 1 ปี นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2527 ถึง วันที่ 10 กันยายน 2528 โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยแล้ว ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2527 รถยนต์คันพิพาทหายไปโจทก์ติดต่อให้จำเลยชำระเงินจำนวน 210,000 บาท ตามสัญญาประกันภัยแล้ว จำเลยไม่ชำระอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทหรือไม่ เห็นว่าแม้นายมงคลผู้ขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาท ไม่อาจโอนขายให้โจทก์ได้ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับโอนรถยนต์คันพิพาทมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนมีการโอนทะเบียนรถยนต์โดยเปิดเผย โจทก์ได้ยึดถือรถยนต์คันพิพาทไว้โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนมีการแจ้งย้ายทะเบียนรถยนต์จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปยังจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์และครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันพิพาทตลอดมาโจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองรถยนต์คันพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 โจทก์จึงมีสิทธิใช้สอยและได้รับประโยชน์จากรถยนต์คันพิพาท มีสิทธิให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1374มีสิทธิโอนสิทธิครอบครองตามมาตรา 1378 และอาจได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จึงเป็นที่เห็นได้ว่าหากมีวินาศภัยเกิดขึ้นแก่รถยนต์คันพิพาทในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายคือ ต้องขาดประโยชน์ในการใช้สอยรถยนต์คันพิพาทไปจากที่เคยได้รับเป็นปกติ ทั้งผู้มีสิทธิเอาประกันภัยนั้นมิได้จำกัดเพียงเฉพาะผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันภัยเท่านั้นผู้ที่มีความสัมพันธ์อยู่กับทรัพย์หรือสิทธิหรือผลประโยชน์หรือรายได้ใด ๆซึ่งถ้ามีวินาศภัยเกิดขึ้นจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายและความเสียหายที่ผู้นั้นจะได้รับสามารถประมาณเป็นเงินได้แล้ว ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิเอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวไว้แก่จำเลยโดยมิต้องคำนึงถึงว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ เมื่อรถยนต์คันพิพาทที่เอาประกันภัยได้สูญหายไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share