คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเป็นเอกสารที่ส่งมาจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย แม้จะเป็นสำเนาเอกสารก็สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ เพราะต้นฉบับได้ส่งไปยังศาลแพ่งและศาลแพ่งแจ้งว่าตรวจหาแล้วไม่พบ เพราะมีการปลดเผาตามระเบียบแล้ว แสดงว่าต้นฉบับหนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารที่มีอยู่จริงเพียงแต่หาต้นฉบับไม่ได้เท่านั้น
ประเด็นที่ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางพินัยกรรมหรือไม่นั้น ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวถึงประเด็นข้อนี้อันจะอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น แม้ในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นจะได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทไว้ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท… กับให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการครอบครองตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 กำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 คนละ 5,000 บาท กำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 5 50,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่าการจดทะเบียนไถ่ถอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น มีการปลอมลายมือชื่อบิดาโจทก์หรือไม่ โจทก์คงมีตัวโจทก์แต่ผู้เดียวเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุน… โจทก์ตรวจสอบการทำนิติกรรมการไถ่ถอนและการซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทที่โจทก์ได้รับตามพินัยกรรมแล้ว โจทก์ไม่พบหนังสือมอบอำนาจที่บิดาโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ไปไถ่ถอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 คงพบแต่สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน ซึ่งข้อความในเอกสารดังกล่าวเขียนด้วยลายมือของบุคคลคนเดียวกัน โจทก์ไม่เคยเห็นต้นฉบับหนังสือสัญญาขายที่ดินเลย อาศัยเพียงคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าลายมือชื่อของบิดาโจทก์ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเป็นลายมือชื่อปลอม ฝ่ายจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 นำสืบถึงการได้มาในที่ดินพิพาทโดยบิดาโจทก์ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ขายจริง เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารที่ส่งมาจากสำนักที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อยแล้ว เห็นว่า แม้จะเป็นสำเนาเอกสารก็สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ เพราะต้นฉบับเอกสารได้ส่งไปยังศาลแพ่งและศาลแพ่งแจ้งว่าตรวจหาแล้วไม่พบ เพราะมีการปลดเผาทำลายตามระเบียบแล้ว แสดงว่า ต้นฉบับหนังสือสัญญาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเอกสารที่มีอยู่จริง เพียงแต่หาต้นฉบับไม่ได้เท่านั้น… เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานอื่นประกอบแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บิดาโจทก์ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจริง
โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองและตามพินัยกรรมแล้ว ประเด็นการครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ นั้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 นำสืบรับฟังได้ว่าโจทก์มิได้ครอบครองที่ดินพิพาทตามที่โจทก์อ้าง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางพินัยกรรมอีกประการหนึ่ง นั้น เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวถึงประเด็นข้อนี้อันจะอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น แม้ในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นจะได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยมิชอบ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้…
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 4 และที่ 6 คนละ 3,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 จำนวน 30,000 บาท.

Share