คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 631/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทุจริตปลอมเอกสารและนำออกใช้และเบียดบังยักยอกเงินไป แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าปลอมใช้เอกสารมากกว่า 2 ครั้ง ซึ่งเกินกว่าที่ระบุในฟ้อง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงต่างกับฟ้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ซึ่งให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สิน หรือราคาคืนในคดียักยอกทรัพย์นั้นหมายรวมทั้งคดีเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ด้วย ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 1907/2494

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นข้าราชการกรมชลประทาน ดำรงตำแหน่งประจำแผนก และทำหน้าที่สมุหบัญชีของกรมชลประทานโครงการก่อสร้างภาคพายัพ บังอาจทำปลอมเอกสารราชการ ใบสมัครลูกจ้างคนงานใบขอจ้างคนงาน และใบเบิกค่าแรงงานหลายฉบับ และนำออกใช้โดยสอดแทรกกับเอกสารราชการ 3 ประเภทที่แท้จริง เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้รับสมัครงานและจ้างเพิ่มคนงานจำนวน 336 คน และทำหลักฐานว่าได้จ่ายค่าแรงคนงานดังกล่าวไปแล้วเป็นเงิน 88,085 บาท ในประการที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมชลประทานและผู้บังคับบัญชา และจำเลยได้ทุจริตเบียดบังยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นของตนเสียขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 265, 268, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 7, 13 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 88,085 บาทแก่กรมชลประทาน

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยกระทำทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และใช้เอกสารราชการปลอมเพื่อเจตนาเบียดบังยักยอกเงินจำนวนตามฟ้องไว้เป็นของตนหรือผู้อื่น แต่โจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำผิดฐานปลอมเอกสารราชการตาม มาตรา 264, 265 ทั้งมิได้อ้างบทกฎหมายถึงการที่จำเลยร่วมกระทำผิดด้วยกันกับผู้อื่น อันแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 เท่านั้น และโจทก์มิได้อ้างบทมาตรา ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์มาท้ายฟ้อง จึงลงโทษจำเลยฐานนี้ไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นการอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 4 ทั้งโจทก์มิได้แยกวันเวลาแห่งการกระทำผิดต่างกรรมวาระ ออกเป็นกระทงความผิดแต่ละอย่าง กรณีจึงเป็นเรื่องกระทำผิดหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157 และ 268 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 7, 13 ลงโทษตามมาตรา 147 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลย 6 ปี จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อนและคำรับของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.19 แสดงถึงการรู้สึกความผิดเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 ตาม มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี แม้จะลงโทษจำเลยฐานยักยอกตาม มาตรา 352, 353 ไม่ได้ แต่การทุจริตต่อหน้าที่ของจำเลยเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147 อัยการโจทก์มีอำนาจขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 จึงให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 88,085 บาท แก่กรมชลประทานด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับแต่เฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งมี 3 ข้อ ด้วยกันคือ

1. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมทุจริตเอาเงินไป 2 ครั้ง และข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่ามีหลักฐานการปลอมมากกว่า 2 ครั้ง ข้อเท็จจริงจึงต่างกับฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลชอบที่จะยกฟ้อง

2. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จึงไม่มีอำนาจขอให้คืนหรือใช้เงินที่กรมชลประทานถูกเบียดบังไป

3. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้จัดให้มีการปลอมเอกสารขึ้นแต่ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำ ทั้งมิได้อ้างกฎหมายที่จำเลยร่วมกระทำผิดศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยข้อนี้ เพราะเห็นว่าลงโทษไม่ได้ แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยข้อนี้ และเห็นว่าจำเลยเกี่ยวข้องในการปลอมแปลงด้วย อันเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า 1. เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยปลอมเอกสารเอาเงินไปแล้ว แม้จะเกินกว่า 2 ครั้ง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงต่างกับฟ้อง 2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ซึ่งให้อัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนในคดียักยอกนั้น หมายความรวมถึงการเรียกทรัพย์ในคดีเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ด้วยตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 1907/2494 3. แม้ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อปลอมแปลงเอกสารเพราะฟ้องมิได้บรรยายถึง เมื่อประเด็นข้อนี้เป็นข้อเท็จจริงในความผิดฐานยักยอกซึ่งจำเลยอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยได้พิพากษายืน

Share