คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยแถลงต่อศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาของ ศาลชั้นต้นว่า จำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินตีใช้หนี้ผู้เสียหายบางส่วน แต่ผู้เสียหายแถลงว่าเกรงว่าที่ดินจะมีปัญหาจึงขอให้จำเลยชำระเป็นเงินสด จำเลยยอมรับว่าจะชดใช้เงินสดโดยผ่อนชำระเป็น 3 งวด โดยจำเลยจะนำเงินไปชำระให้ผู้เสียหาย ที่บ้าน งวดที่ 2 จำเลยจะนำเงินไปชำระให้ผู้เสียหายที่ศาล งวดที่ 3 ชำระส่วนที่เหลือพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระงวดที่ 1 และงวดที่ 2 แล้วจำเลยจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินที่ค้างชำระอีกด้วยนั้น กรณีเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายผ่อนผันการชำระเงินทางแพ่งเท่านั้น เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงแสดงว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จึงถือไม่ได้ว่ามีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเพราะการยอมความกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 27 ธันวาคม 2539 นั้น เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2539 มีข้อความว่า ตามที่ได้แถลงต่อศาลว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินตีใช้หนี้ผู้เสียหายบางส่วนนั้น ผู้เสียหายแถลงว่าเกรงว่าที่ดินจะมีปัญหาขอให้จำเลยชำระเป็นเงินสด จำเลยยอมรับว่าจะชดใช้เงินสดจำนวน40,000 บาท แก่ผู้เสียหาย โดยผ่อนชำระเป็น 3 งวด งวดที่ 1วันที่ 2 มกราคม 2540 จำนวน 140,000 บาท โดยจำเลยจะนำเงินไปชำระให้ผู้เสียหายที่บ้านงวดที่ 2 วันที่ 24 มีนาคม 2540 ชำระอีก 160,000 บาท โดยจำเลยจะนำเงินไปชำระให้ผู้เสียหายที่ศาลงวดที่ 3 วันที่ 24 มีนาคม 2541 ชำระอีก 240,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 มีนาคม 2541หากว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระงวดที่ 1 และงวดที่ 2 แล้ว จำเลยจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินที่ค้างชำระอีกด้วย เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายผ่อนผันการชำระเงินทางแพ่งทางนั้น ไม่มีข้อเท็จจริงแสดงว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย ถือไม่ได้ว่ามีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่าที่ศาลล่างใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
พิพากษายืน

Share