แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ข้อหาความผิดดังกล่าวจึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย แต่อัยการสูงสุดรับรองว่ารูปคดีมีเหตุอันควร ที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง จึงรับรองฎีกา ของโจทก์เพื่อศาลฎีกาจะได้พิจารณาพิพากษาต่อไป อันเป็นการ รับรองให้ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้รับฎีกาโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 และ 221ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ และพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 15,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกประเภทมีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนดไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขอและข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยโดยอัยการพิเศษประจำเขต 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษไม่ลงโทษปรับ และไม่คุมความประพฤติ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าแม้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) มีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนมิใช่วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และเปลี่ยนไปเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ก็ตาม แต่เมทแอมเฟตามีนยังคงเป็นกลุ่มแอมเฟตามีนอย่างหนึ่ง ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เสพหรือรับเข้าสู่ร่างกายยังต้องมีความผิดตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคหนึ่งทั้งประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับไม่อาจมีผลถึงกับยกเลิกความผิดดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ข้อหาความผิดดังกล่าวจึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายแต่อัยการสูงสุดรับรองว่ารูปคดีมีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงจึงรับรองฎีกาของโจทก์เพื่อศาลฎีกาจะได้พิจารณาพิพากษาต่อไปอันเป็นการรับรองให้ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 และ 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่รูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1