แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่บุคคลทำข้อกำหนดในพินัยกรรมยกที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ผู้อื่นได้แต่ประการใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 เป็นที่ดินที่ ส. ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ข้อกำหนดในพินัยกรรมของ ส. ที่ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 ให้แก่ ถ. มารดาของโจทก์ ย่อมเป็นการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามพินัยกรรมมาเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นคำฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุข แบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2548 (5) คือที่ดินโฉนดเลขที่ 20806 จำนวน 4 ไร่ 6 ตารางวา ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยแบ่งแยกโฉนดที่ดินในส่วนที่เป็นของนางแถมจำนวน 4 ไร่ 6 ตารางวา โดยใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่แบ่งแยก หากจำเลยไม่แบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
นางสำอางค์ ผู้ร้องสอดที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 2 ไร่ ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 4 ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1
นายประนอม ผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นโมฆะ และให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 2 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุข แบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2548 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 20806 ตามข้อ (4) เนื้อที่ 2 ไร่ ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 และตามข้อ (5) เนื้อที่ส่วนที่เหลือประมาณ 4 ไร่ 6 ตารางวา ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางแถม โดยให้จำเลยไปแบ่งแยกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวที่เป็นส่วนของผู้ร้องสอดที่ 1 จำนวน 2 ไร่ และที่เป็นส่วนของนางแถม เนื้อที่ส่วนที่เหลือประมาณ 4 ไร่ 6 ตารางวา โดยใส่ชื่อของผู้ร้องสอดที่ 1 และใส่ชื่อของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางแถมตามลำดับ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่แบ่งแยก หากจำเลยไม่แบ่งแยกโฉนดที่ดินให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 2 กับให้จำเลยและผู้ร้องสอดที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และผู้ร้องสอดที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องสอดที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยโจทก์ จำเลย ผู้ร้องสอดที่ 1 และผู้ร้องสอดที่ 2 มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่านายสุข กับนางบุญธรรม มีบุตรด้วยกัน 6 คน คือ นางสาวบุญส่ง จำเลย นายสมหมาย นายสมชาย ผู้ร้องสอดที่ 2 และนายสุเทพ แต่นางสาวบุญส่ง นายสมหมายและนายสุเทพได้ถึงแก่ความตายไปแล้วก่อนนายสุข ก่อนสมรสกับนายสุข นางบุญธรรมมีบุตรที่เกิดกับสามีคนก่อน 2 คน คือ นางแถม และผู้ร้องสอดที่ 1 นางแถมสมรสกับนายบรรจง มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ นายอดิเรก นายรุ่ง โจทก์ นางใจเทียม และนางสาวนันทวรรณหรือกาญจนรัศม์ นางบุญธรรมถึงแก่ความตายก่อนนายสุข ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 นายสุขถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุวัณโรคปอด จากนั้น เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุข ครั้นวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 นางแถมยื่นคำร้องขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นางแถมถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี โจทก์ในฐานะทายาทของนางแถมและผู้ร้องสอดที่ 1 ขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของนายสุข แต่จำเลยเพิกเฉย โดยพินัยกรรมของนายสุขมีข้อกำหนดยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 จำนวน 4 ไร่ 6 ตารางวา ให้แก่นางแถม แต่ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 เป็นที่ดินที่นายสุขได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 คดีในส่วนของผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เนื่องจากผู้ร้องสอดที่ 1 มิได้ฎีกา
ประเด็นต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์มีว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมของนายสุข ที่ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 จำนวน 4 ไร่ 6 ตารางวา ให้แก่นางแถม มารดาของโจทก์เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่บุคคลทำข้อกำหนดในพินัยกรรมยกที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ผู้อื่นได้แต่ประการใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 เป็นที่ดินที่นายสุขได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ข้อกำหนดในพินัยกรรมของนายสุข ที่ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 จำนวน 4 ไร่ 6 ตารางวา ให้แก่นางแถม มารดาของโจทก์ ย่อมเป็นการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การนั้นเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามพินัยกรรมมาเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นคำฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ