แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เดิม จ. มารดาโจทก์ กับ ล. ครอบครองที่ดินร่วมกัน ต่อมาบุคคลทั้งสองได้แยกกันครอบครองเป็นสัดส่วน โดย จ. ครอบครองที่พิพาท ส่วนที่ดินที่เหลือ ล. ครอบครอง โดยโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ จ. ยังไม่ถึงแก่กรรมตลอดมาจนถึงปัจจุบันแม้ต่อมา ล. จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้งแปลงรวมทั้งที่พิพาทแล้วทำนิติกรรมยกให้จำเลยทั้งสอง โดยทั้ง ล. และจำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าครอบครองที่พิพาทเลย ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่โดยได้รับมรดกมาจากนางจ้อย ประมวล ผู้เป็นมารดา ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งนางจ้อย ประมวล และนางสาวเหลืองประมวล เป็นเจ้าของครอบครองร่วมกันมาต่อมานางจ้อยและนางสาวเหลืองแบ่งแยกการครอบครองกันเป็นสัดส่วน โดยนางจ้อยครอบครองที่พิพาทส่วนที่เหลือนางสาวเหลืองครอบครอง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2518นางสาวเหลืองได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งแปลง โดยเอาที่พิพาทรวมเข้าด้วยแล้วสมคบกับจำเลยทั้งสองยกที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่า มีที่พิพาทซึ่งเป็นของโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เพิ่งทราบการกระทำดังกล่าวเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2528 เพราะจำเลยทั้งสองไปขอเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์จาก น.ส.3 เป็น น.ส.3ก. โจทก์จึงไปคัดค้านขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนแบ่งแยกเฉพาะส่วนที่พิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองโดยเดิมที่พิพาทเป็นของนายเฟื่อง ประมวล บิดาของจำเลยทั้งสองกับนางสาวเหลืองซึ่งได้รับแบ่งมาจากบิดามารดาแล้วครอบครองร่วมกันมาโดยนางจ้อยมารดาโจทก์ และโจทก์ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง ต่อมาปี 2518นางสาวเหลืองได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งแปลงรวมที่พิพาทด้วย ในนามของนางสาวเหลืองแล้วนางสาวเหลืองได้ทำนิติกรรมยกที่ดินทั้งแปลงรวมทั้งที่พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่พิพาทเพื่อตนตลอดมาเกิน 1 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ต่อมาเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2528 โจทก์และบริวารได้เข้าทำนาในที่พิพาท จำเลยทั้งสองห้ามปรามแล้วไม่เชื่อฟังทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการทำนาคิดเป็นเงินปีละ 10,000 บาท ขอให้พิพากษายกฟ้องและมีคำสั่งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากที่พิพาทกับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ให้ขับไล่โจทก์และบริวาร และให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยปีละ 4,000 บาทนับแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นไป จนกว่าโจทก์และบริวารจะไม่เกี่ยวข้องกับที่พิพาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองคำขออื่นให้ยกและยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.1 มีชื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของผู้ครอบครองโดยได้รับการให้มาจากนางสาวเหลือง ปัจจุบันที่พิพาทโจทก์ครอบครองอยู่ คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาท และจำเลยทั้งสองเสียหายเพียงใด โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบโต้เถียงกันโดยต่างอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทอยู่ แต่อีกฝ่ายบุกรุกเข้ามาแย่งการครอบครอง ฝ่ายโจทก์ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่าเดิมนางสาวเหลืองและนางจ้อยมารดาโจทก์ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ร่วมกันทั้งแปลง ต่อมาได้แยกกันครอบครองเป็นสัดส่วนโดยนางจ้อยครอบครองที่พิพาท ที่เหลือนางสาวเหลืองครอบครอง เมื่อนางจ้อยถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งเป็นบุตรได้ครอบครองที่พิพาทต่อมาในปี 2528 จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้ามาทำนาในที่พิพาท แต่เมื่อโจทก์ห้ามปรามจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้ามาทำนาในที่พิพาทอีกต่อไป โดยโจทก์มีพยานหลายปากมาเบิกความสนับสนุนความข้อนี้ได้ความสอดคล้องต้องกัน ส่วนฝ่ายจำเลยได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของจำเลยทั้งสองโดยนางสาวเหลืองทำนิติกรรมยกให้จำเลยทั้งสองแล้วครอบครองร่วมกันมา ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2528 โจทก์บุกรุกเข้ามาทำนาในที่พิพาทจำเลยที่ 1 ห้ามปรามแล้วโจทก์ไม่ยอมเชื่อฟัง แต่พยานจำเลยคือนางแลประมวล และนายประคอง สายสินธุ์ ต่างเบิกความได้ความสอดคล้องต้องกันว่า โจทก์ได้ทำนาในที่พิพาทตั้งแต่นางจ้อยผู้เป็นมารดายังไม่ถึงแก่กรรมตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จึงเจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวแล้วข้างต้น ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของจำเลย กรณีฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่พิพาทอยู่แล้วโจทก์บุกรุกเข้ามาแย่งการครอบครองดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบแต่ฟังได้ว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทตลอดมาตั้งแต่ก่อนนางจ้อยผู้เป็นมารดายังไม่ถึงแก่กรรมตลอดมา ดังที่โจทก์นำสืบ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังนี้ การที่นางสาวเหลืองขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้งแปลงรวมทั้งที่พิพาทแล้วต่อมาทำนิติกรรมยกที่ดินทั้งแปลงรวมทั้งที่พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง โดยที่ทั้งนางสาวเหลืองและจำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าครอบครองที่พิพาทเลยเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1775วรรคแรก หากแต่โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาทอยู่ดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่พิพาทมีเนื้อที่ 9 ไร่แต่โจทก์กลับเบิกความว่ามีเนื้อที่ 8 ไร่ เป็นการนำสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้องไม่น่ารับฟังนั้น เห็นว่าข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงพลความหามีผลถึงกับทำให้พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ดังที่ฎีกาไม่คดีฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท เมื่อคดีฟังได้ดังนี้ ปัญหาค่าเสียหายของจำเลยทั้งสองตามฟ้องแย้งมีเพียงใดจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.