คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ปฏิเสธว่าลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทมิใช่ของตนโจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาท และในสำนวนมีลายมือชื่อแท้จริงของจำเลยที่ 2 ในสัญญาจำนอง ใบแต่งทนาย และคำให้การ เมื่อเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรง ศาลมีอำนาจอาศัยลายมือชื่อดังกล่าวตรวจเปรียบเทียบ เพื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่า เพียงพอให้เชื่อฟังได้หรือไม่
มูลหนี้คดีนี้เป็นหนี้กู้ยืมเงิน 1,000,000 บาท มิได้ทำสัญญากู้กันไว้ แต่มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันและให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นเงิน 1,000,000 บาท มอบให้โจทก์อีกโดยตกลงว่าเพื่อเป็นประกัน เช็คพิพาทจึงออกเพื่อประกันการกู้ยืมเงินด้วย โจทก์มีสิทธิฟ้องได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวบังคับจำนองก่อน
การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คที่สั่งจ่ายระบุชื่อ โจทก์ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก และมุม ซ้ายบนของด้านหน้ามีข้อความว่าเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้นห้ามเปลี่ยนมือ และในเช็คไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคำสำนวนว่าใช้ได้เป็นอาวัล หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับอาวัลแต่การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คที่จำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายโดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและจำเลยทั้งสองนำเช็คไปมอบให้โจทก์ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คด้วยความสมัครใจที่จะผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ในอันที่จะรับผิดตามข้อความในเช็คอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายด้วยการลงลายมือชื่อของตนในเช็คตามมาตรา 900 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย
คำขอให้โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ เห็นได้ว่าเป็นการพิมพ์ผิดเพราะโจทก์มีเพียงคนเดียวจะขอให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ย่อมไม่ได้ ทั้งในที่อื่นตามฟ้องทั้งหมดได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ขอให้ชำระดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จนถึงวันที่ชำระเสร็จตามคำพิพากษาได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยอีก ๗๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑,๐๗๕,๐๐๐ บาท ให้โจทก์และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้นตามเช็คตลอดไป จนกว่าจะชำระเงินตามเช็คเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาท ลายมือชื่อด้านหลังเช็คดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอมจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนจำนองที่ดินคำ้ประกันเงินกู้โจทก์และสั่งจ่ายเช็คพิพาทค้ำประกันสัญญาจำนองอีกชั้นหนึ่ง เช็คดังกล่าวจึงไม่ใช่เช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน สัญญาจำนองมิได้กำหนดวันไถ่ถอนไว้ โจทก์มิได้แจ้งการบังคับจำนอง จำเลยที่ ๑ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค การที่โจทก์ไม่ฟ้องบังคับจำนองก่อนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากศาลเห็นว่าจำเลยที่ ๒ลงลายมือชื่อหลังเช็คพิพาท เมื่อเป็นเช็คระบุชื่อ และขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือ ทั้งด้านหลังเช็คไม่มีคำว่าใช้ได้เป็นอาวัลหรือสำนวนอื่นใด จึงมิใช่ผู้รับอาวัล โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้เงิน๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันออกเช็ค จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้การกู้ยืมเงินและให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานในการกู้ยืม เป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐บาท ต่อมาวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ จำเลยที่ ๑ ได้สั่งจ่ายเช็คเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท มอบให้โจทก์ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗โดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออก และได้มีการบันทึกไว้หลังสัญญาจำนองว่า ออกเช็คฉบับดังกล่าวเพื่อเป็นประกันตามสัญญานี้ โดยลงชื่อโจทก์จำเลยที่ ๑ เป็นคู่สัญญา และจำเลยที่ ๒ เป็นพยาน เมื่อถึงวันที่ลงในเช็ค โจทก์ได้เรียกเก็บเงินตามเช็ค ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ ๒ชำระหนี้ตามเช็ค จำเลยที่ ๒ ไม่ชำระ โจทก์จึงได้ฟ้องเรียกเงินตามเช็ค และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ ปฏิเสธว่าลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทมิใช่ของจำเลยที่ ๒ โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทและในสำนวนมีลายมือชื่อแท้จริงของจำเลยที่ ๒ ในสัญญจำนองใบแต่งทนายและคำให้การ ซึ่งเป็นลายมือชื่อที่ปรากฏอยู่ชัดแจ้งเมื่อเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับประเด็นโดยตรง ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะอาศัยลายมือชื่อ ตรวจเปรียบเทียบเพื่อชั่งน้ำหนักของพยานหลักฐานว่า เป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังได้หรือไม่เพียงใดไม่มีกฎหมายใดที่ห้ามมิให้ศาลเปรียบเทียบลายมือชื่อและรับฟังตามที่ได้ตรวจพิเคราะห์แล้ว
มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้กู้ยืมเงินจำนวน๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมิได้ทำสัญญากู้ยืมกันไว้โดยเฉพาะ แต่ได้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกัน และให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗มอบให้แก่โจทก์อีก และตกลงกันว่าเพื่อเป็นประกัน เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ออกให้เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน ย่อมเป็นการออกเช็คโดยมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงิน และมีเจตนาที่จะผูกพันบังคับชำระหนี้กันได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีบังคับตามเช็คได้
การที่จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คที่สั่งจ่ายโดยระบุชื่อโจทก์ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือ และมุมซ้ายบนด้านหน้ามีข้อความว่าเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนมือ และในเช็คไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคำสำนวนว่า ใช้ได้เป็นอาวับหรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันจำเลยที่ ๒ จึงมิใช่ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับอาวัล แต่การที่จำเลยที่๒ ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คที่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท จำเลยที่ ๒ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทและจำเลยทั้งสองได้นำเช็คไปมอบให้โจทก์ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คด้วยความสมัครใจที่จะผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ในอันที่จะรับผิดตามข้อความในเช็คอย่างเดียวกับจำเลยที่ ๑ ผู้สั่งจ่ายด้วยการลงลายมือชื่อของตนในเช็คตามมาตรา ๙๐๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย
และคำขอให้โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ย่อมเห็นได้ว่าที่ฟ้องขอให้โจทก์ทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ เป็นการพิมพ์ผิดเพราะโจทก์มีเพียงคนเดียว และจะขอให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ย่อมไม่ได้ ทั้งตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวในที่อื่นทั้งหมดได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแต่พิมพ์คำว่าจำเลยทั้งสองเป็นโจทก์ทั้งสอง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยได้มิใช่พิพากษาเกินคำขอ และโดยเฉพาะการฟ้องขอให้ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ชำระดอกเบี้ยจนถึงวันที่ได้ชำระเสร็จตามคำพิพากษาก็ได้
พิพากษายืน.

Share