แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 ข้อเท็จจริงต้องได้ความว่าจำเลยทั้งหกได้เปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์ให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า แต่ตามคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปเปิดเผยแก่จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา แม้ตามกฎหมายจะถือว่าจำเลยที่ 6 เป็นบุคคลซึ่งแยกออกมาต่างหากจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ผู้ร่วมกันจัดตั้งจำเลยที่ 6 ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่า กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปใช้เองโดยวิธีการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 6 ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เท่านั้น ข้อมูลทางการค้าหรือความลับทางการค้านั้นก็คงอยู่ในความรับรู้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 หรือจำเลยที่ 6 เท่านั้น มิได้เป็นการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้เป็นที่ล่วงรู้แก่บุคคลอื่นโดยทั่วไปตามความในมาตรา 33 ดังกล่าว แต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 6, 33, 34, 35, 36 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 25,000,000 บาท นับจากวันที่กระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากยอดเงิน 25,000,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งหกระงับการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าและข้อมูลทางการค้าของโจทก์นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป หากฝ่าฝืนขอให้ชำระค่าสินไหมทดแทนปีละ 25,000,000 บาท จนกว่าจะหยุดการละเมิดให้ทำลายและริบสิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้ใช้ในการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า ห้ามจำเลยทั้งหกจำหน่ายสินค้าแก่ลูกค้าของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้รู้มาจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างโจทก์ ให้จำเลยทั้งหกคืนผลประโยชน์ที่ได้จากหรือเนื่องจากการละเมิดความลับทางการค้ารวมเข้าไปในค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าคดีโจทก์มีมูลตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 6, 33, 36 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ส่วนข้อหาความผิดตาม มาตรา 34, 35 คดีโจทก์ไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรก จำเลยทั้งหกกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 หรือไม่ มาตรา 33 บัญญัติว่า “ผู้ใดเปิดเผยความลับทางการค้าของผู้อื่นให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า โดยเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจไม่ว่าจะกระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียงหรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” เห็นว่า องค์ประกอบความผิดของบทบัญญัติมาตรานี้ข้อหนึ่ง คือ ต้องเป็นการเปิดเผยความลับทางการค้าของผู้อื่นให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ความลับทางการค้า หมายความว่า “ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ” ดังนี้ กรณีจะเป็นความผิดตามมาตรา 33 ข้อเท็จจริงจึงต้องได้ความว่า จำเลยทั้งหกได้เปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์ให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า แต่ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายฟ้องในสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โดยมีเจตนาทุจริตร่วมกันนำข้อมูลความลับทางการค้าเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเครื่องจักรบรรจุสินค้าลงซองอัตโนมัติประเภทต่างๆ และบัญชีรายชื่อลูกค้าของโจทก์ไปเปิดเผยแก่จำเลยที่ 6 นับแต่เดือนกรกฎาคม 2546 เป็นต้นมาจนถึงวันฟ้อง และจำเลยทั้งหกได้ร่วมกันผลิตเครื่องจักรบรรจุสินค้าลงซองอัตโนมัติประเภทต่างๆ ลอกเลียนแบบเครื่องจักรบรรจุสินค้าลงซองอัตโนมัติของโจทก์และขายให้แก่ลูกค้าของโจทก์หลายราย ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมกันเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์ให้เป็นที่ล่วงรู้กันโดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า ตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปเปิดเผยแก่จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาแม้จะถือว่าตามกฎหมายจำเลยที่ 6 เป็นบุคคลซึ่งแยกออกมาต่างหากจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ผู้ร่วมกันจัดตั้งจำเลยที่ 6 ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่า กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปใช้เองโดยวิธีการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 6 ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เท่านั้น ข้อมูลทางการค้าหรือความลับทางการค้า ก็คงอยู่ในความรู้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 หรือจำเลยที่ 6 เท่านั้น มิได้เป็นการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้เป็นที่ล่วงรู้แก่บุคคลอื่นโดยทั่วไปตามความในมาตรา 33 ดังกล่าวแต่อย่างใด นอกจากนี้ การที่จำเลยทั้งหกขายเครื่องจักรบรรจุสินค้าลงซองอัตโนมัติให้แก่ลูกค้าของโจทก์หลายรายก็มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งหกเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าของโจทก์ เพราะไม่ใช่เรื่องที่จำเลยทั้งหกร่วมกันเปิดเผยข้อมูลความลับทางการค้าเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเครื่องจักรบรรจุสินค้าลงซองอัตโนมัติประเภทต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้าของโจทก์ดังกล่าว แต่เป็นเพียงการขายเครื่องจักรบรรจุสินค้าลงซองอัตโนมัติให้แก่ลูกค้าของโจทก์เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน การกระทำของจำเลยทั้งหกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงยังไม่อาจถือได้ว่า เป็นการร่วมกันเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์ให้เป็นที่ล่วงรู้กันโดยทั่วไปดังที่โจทก์อ้าง เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบอันเป็นความผิดตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 กรณีจึงลงโทษจำเลยทั้งหกตามบทมาตรานี้ไม่ได้และไม่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และอุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องนี้อีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ