คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 931/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยสร้างสะพานลอยกีดขวางทางเข้าออกบ้านโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้ ถึงแม้จำเลยจะสร้างสะพานลอยเพื่อสาธารณประโยชน์และโจทก์จะมีสิทธินำรถยนต์เข้าออกระหว่างถนนกับบ้านโจทก์โดยผ่านทางเท้าหรือไม่ก็ตาม การที่จำเลยสร้างสะพานลอยดังกล่าวก็เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสร้างสะพานลอยกีดขวางปิดกั้นทางเข้าออกบ้านโจทก์ซึ่งอยู่ติดกับถนนจรัลสนิทวงศ์ เป็นเหตุให้โจทก์และบริวารได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร เพราะจำเลยสามารถทำการก่อสร้างสะพานลอยดังกล่าวโดยมิได้กีดขวางหรือปิดกั้นทางเข้าออกบ้านโจทก์ได้แต่ก็ไม่กระทำเป็นการละเมิด ขอให้จำเลยงดเว้นการก่อสร้างสะพานลอยตามฟ้อง และให้รื้อถอนสะพานลอยในส่วนที่กีดขวางปิดกั้นทางเข้าออกบ้านโจทก์ออกไป

จำเลยให้การว่า บริเวณที่จำเลยก่อสร้างเป็นทางเดินเท้า การที่โจทก์นำรถยนต์ผ่านเข้าออกบนทางเดินเท้าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยสร้างสะพานลอยขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์ให้สาธารณชนทั่วไปได้ใช้สอยในการข้ามถนนโดยปลอดภัยจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะสร้างสะพานลอยตามฟ้องก็ไม่เป็นละเมิด เพราะโจทก์ก็ยังสามารถเข้าออกบ้านโจทก์ได้ โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยสร้างสะพานลอยพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์พิพากษาให้จำเลยงดเว้นการก่อสร้างสะพานลอยตามฟ้องเฉพาะส่วนที่กีดขวางทางเข้าออกบ้านโจทก์ ถ้าหากจำเลยได้ทำการก่อสร้างไปบ้างแล้วก็ให้จำเลยรื้อถอนส่วนที่กีดขวางนั้นออกไปโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองบ้านเลขที่ 65/16 บริเวณที่ดินที่ปลูกบ้านติดถนนจรัลสนิทวงศ์ซึ่งเป็นทางสาธารณะโดยมีทางเท้าคั่น โจทก์เว้นที่ดินเป็นช่องว่างกว้างประมาณ 3 เมตร สำหรับเป็นทางนำรถยนต์เข้าออกระหว่างถนนจรัลสนิทวงศ์กับบ้านโจทก์โดยผ่านทางเท้าจำเลยสร้างสะพานลอยขึ้น ส่วนหนึ่งของสะพานลอยซึ่งอยู่บนทางเท้ากีดขวางทางเข้าออกบ้านโจทก์ โจทก์ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าเขตบางกอกใหญ่ขอให้ระงับหรือแก้ไขการสร้างสะพานลอย จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบโจทก์ว่าไม่สามารถแก้ไขหรือระงับการก่อสร้างได้ คดีมีปัญหาว่าการที่จำเลยสร้างสะพานลอยดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 ที่บัญญัติว่า “บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน” นั้น ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยที่ 1 และเขตบางกอกใหญ่ด้วย ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจจำเลยที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 1337 ดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นวิศวกรด้วยเบิกความว่า การก่อสร้างสะพานลอยถ้ากีดขวางทางเข้าออกจะต้องออกแบบเลี่ยงไปเช่น ทำลอยข้ามไป หรือทำโครงสร้างอะไรพิเศษขึ้นมาเพื่อไม่ให้ขวางทางเข้าออก หรือเลิกดำเนินการก่อสร้างเลย และเมื่อได้รับคำร้องเรียนของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 ได้หารือกับหัวหน้าเขตบางกอกใหญ่ มีความเห็นว่าไม่ควรสร้างสะพานลอยตรงบริเวณนั้นและตามเอกสารหมาย ล.4 ปลัดกรุงเทพมหานครทำบันทึกหลังจากที่ได้รับคำร้องเรียนของโจทก์แล้วว่า ได้สอบถามหัวหน้างานโยธาบางกอกใหญ่แล้ว แจ้งว่าการแก้ไขโดยร่นช่องทางบันไดให้สั้นนั้น สามารถกระทำได้แสดงว่าการก่อสร้างสะพานลอยตรงบริเวณที่พิพาทอาจหลีกเลี่ยง หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้ขวางทางเข้าออกบ้านโจทก์ได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยสร้างสะพานลอยกีดขวางทางเข้าออกบ้านโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร โจทก์ย่อมมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้ ถึงแม้จำเลยจะสร้างสะพานลอยเพื่อสาธารณประโยชน์และโจทก์จะมีสิทธินำรถยนต์เข้าออกระหว่างถนนจรัลสนิทวงศ์กับบ้านโจทก์โดยผ่านทางเท้าหรือไม่ก็ตาม การที่จำเลยสร้างสะพานลอยดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

พิพากษายืน

Share