แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่เรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นจำเลยร่วมไม่มีความจำเป็นจะต้องทำแผนที่พิพาท และไม่จำเป็นที่จะต้องไปเผชิญสืบที่พิพาทให้ยกคำร้องโจทก์ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงคัดค้านเรื่องขอให้ศาลเดินเผชิญสืบและเรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเท่านั้น ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านเรื่องการทำแผนที่พิพาทด้วย จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในเรื่องการทำแผนที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมาเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทเพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องเดินเผชิญสืบที่พิพาทต่อไป ย่อมมีอำนาจงดเดินเผชิญสืบแล้ววินิจฉัยคดีไปได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเจ้าหน้าที่ไปรังวัดสอบเขตโดยปักหลักเขตทางด้านทิศตะวันตกเข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ23 ตารางวา และจำเลยกั้นรั้วล้อมรอบโจทก์ได้บอกให้จำเลยรื้อถอนรั้วที่รุกล้ำแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรังวัดที่ดินของจำเลยโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้รื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยย้ายหลักเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ไม่เคยขอรังวัดสอบเขต จำเลยล้อมรั้วในที่ดินของตนเองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาทกลางแสดงเขตโฉนดที่ดินของโจทก์จำเลยเพื่อความสะดวกในการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำแผนที่พิพาทให้ยกคำร้อง และวันที่ 11 กันยายน 2529 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้เรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบที่พิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุผลพอที่จะเรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องไปเผชิญสืบ ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านไว้แล้วเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2529 แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ ขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่โดยสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาทกลางและเดินเผชิญสืบที่พิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่เรียกกรมที่ดินเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำแผนที่พิพาท และไม่จำเป็นที่จะต้องไปเผชิญสืบที่พิพาท ยกคำร้องของโจทก์ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2529โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านเรื่องขอให้ศาลเดินเผชิญสืบและเรียกกรมที่ดิเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเท่านั้น ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านเรื่องการทำแผนที่พิพาทด้วย โจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในเรื่องการทำแผนที่พิพาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยในเรื่องดังกล่าวนั้น ชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ขอให้ศาลเดินเผชิญสืบที่พิพาท หากศาลเดินเผชิญสืบที่พิพาทย่อมทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นไปโดยถูกต้อง ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ งดเดินเผลิญสืบไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้อง คำให้การและที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3892 แขวงบางไผ่ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ทางทิศใต้ของที่ดินโจทก์ติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 42483 เลขที่ดิน 898ซึ่งเป็นของจำเลย โดยมีลำกระโดงคั้นอยู่ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2526โจทก์นำเจ้าพนักงานรังวัดไปทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์จำเลยได้ไประวังแนวเขตและคัดค้านแนวเขต โจทก์จำเลยได้ตกลงแนวเขตที่ดินกันโดยให้เจ้าพนักงานรังวัดปักหลักเขตเลขที่ 3545 เป็นหลักเขตที่ดินระหว่างโจทก์จำเลย และเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดใหม่ให้โจทก์แล้ว และจำเลยได้ทำรั้งตามแนวเขตที่เจ้าพนักงานรังวัดปักไว้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 65 การรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเฉพาะรายการตามมาตรา 69 ทวิ หากมีผู้คัดค้าน ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจสอบสวนไกล่เกลี่ยโดยถือหลักฐานแผนที่เป็นหลักในการพิจารณา ถ้าตกลงกันได้ให้ดำเนินการไปตามที่ตกลงในการรังวัดแบ่งแยก จำเลยได้คัดค้านแนวเขต โจทก์จำเลยได้ตกลงกันเรื่องแนวเขตที่ดิน และเจ้าพนักงานรังวัดได้ปักหลักเขตเลขที่ 3545 ตามที่โจทก์จำเลยตกลงกัน ต่อมาจำเลยได้ทำรั้วตามแนวเขตที่เจ้าพนักงานรังวัดปักไว้ ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของโจทก์เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมาเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทเพียงพอแก่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องเดินเผชิญสืบที่พิพาทต่อไป ย่อมมีอำนาจงดเดินเผชิญสืบแล้ววินิจฉัยคดีนั้นไป แต่ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์เกินกำหนดและศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยนั้นจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่ต้องใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.