คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 370/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้มือจับแขนขวาของผู้เสียหายกระชากไพล่ไปทางด้านหลังเป็นเหตุให้เส้นเอ็นที่หัวไหล่ขวาของผู้เสียหายอักเสบเล็กน้อยไม่มีบาดแผลหรือช้ำบวมภายนอก ใช้เวลารักษาประมาณ 15 วัน ถือว่าไม่เป็นอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ที่ฟ้องแต่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำร้ายร่างกายโดยจับแขนนายแหย่ง แซ่เจ้า ผู้เสียหาย กระชากอย่างแรงเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จากนั้นได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 145, 310, 295 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 310, 90 ให้ลงโทษตามมาตรา 310 ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุกจำเลย 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยอุทธรณ์ของโจทก์นั้น อธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายและฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 310 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยเพียงแต่ใช้มือจับแขนขวาของผู้เสียหายกระชากไพล่ไปทางด้านหลังเป็นเหตุให้เส้นเอ็นที่หัวไหล่ขวาของผู้เสียหายอักเสบเล็กน้อย ไม่มีบาดแผลหรือช้ำบวมภายนอก ใช้เวลารักษาประมาณ 15 วัน ถือว่าไม่เป็นอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 วรรคหนึ่ง 391, 90 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม มาตรา 310 วรรคหนึ่งซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 ให้จำคุกจำเลย 2 เดือน และปรับ 2,000 บาทพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share