แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติ ป.อ.มาตรา 218 เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217โดยมาตรา 218 บัญญัติให้ผู้กระทำผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 218 (1) ถึง (6)ต้องได้รับโทษหนักนั้น ดังนั้น การกระทำอันมิได้เป็นความผิดตามมาตรา 217 แม้กระทำต่อทรัพย์ที่ระบุในมาตรา 218 ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดเช่นกัน
ป.อ.มาตรา 217 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด ไม่มีข้อความว่า “หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย”ก็เป็นความผิดแล้ว จะตีความคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น” ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยมิได้ เพราะการตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความออกไปถึงกรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้งเพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ เพราะขัดต่อหลักความรับผิดของบุคคลในทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ.มาตรา 2
คำฟ้องบรรยายว่า จำเลยวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้เสียหายโดยมิได้ระบุว่าการกระทำของจำเลยน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของบุคคลอื่น อันจะทำให้เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 220 เป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยมิได้หลงต่อสู้ก็ลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรานี้มิได้