คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ยังมีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนของบริษัทจำเลยที่ 7 และที่ 8 อยู่หรือไม่ อันเป็นประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยที่ 7 และที่ 8 ทำกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ยังเป็นข้อที่โจทก์และจำเลยทั้งแปดโต้เถียงกันอยู่ ควรให้โอกาสคู่ความนำสืบให้สิ้นกระแสความ การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้งดสืบพยานของคู่ความ แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งแปดต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งแปดขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยที่ ๗และที่ ๘ ทำไว้กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๙๓๘/๒๕๓๑ ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ให้การว่า สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๙๓๘/๒๕๓๑ ของศาลชั้นต้นเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๗ และที่ ๘ ให้การว่า จำเลยที่ ๗ มีนายยงยุทธเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๗ ส่วนจำเลยที่ ๘ มีนายยงยุทธและนายสุทินเป็นกรรมการ โจทก์มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้น โจทก์ได้กล่าวยืนยันมาในคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ มาตั้งแต่การจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน ส่วนนายยงยุทธ พินธุโสภณ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ ได้ร่วมกับนายเชิดชัย พินธุโสภณ กรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ ๗ และที่ ๘จัดทำรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๒๗ ของจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ เป็นเท็จว่าโจทก์ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนของจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ แล้วนายยงยุทธได้ตั้งตัวเองขึ้นเป็นกรรมการของจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ แทนโจทก์ จึงถือว่าโจทก์ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ให้การว่า โจทก์ลาออกจากกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ โดยชอบแล้วรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๒๗ ได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้เป็นเท็จ โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ โดยโจทก์มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยที่ ๗ และที่ ๘ ทำไว้กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ และจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ ให้การว่า จำเลยที่ ๗ มีนายยงยุทธเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๗ โดยได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่๑/๒๕๒๗ สืบแทนโจทก์ที่ขอลาออก นายยงยุทธไม่เคยสมคบกับนายเชิดชัยจัดทำรายงานการประชุมดังกล่าวเป็นเท็จ สำหรับจำเลยที่ ๘ มีนายยงยุทธและนายสุทินเป็นกรรมการ ซึ่งกรรมการคนใดคนหนึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ ๘ กระทำการแทนจำเลยที่ ๘ ได้ โดยได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๓๐ ซึ่งโจทก์ได้เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะผู้ถือหุ้น และลงมติเห็นชอบด้วยกับการแต่งตั้งดังกล่าว โจทก์มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๗และที่ ๘ แต่อย่างใด ดังนั้น ในข้อที่ว่าโจทก์ยังมีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนของจำเลยที่ ๗ และที่ ๘ อยู่หรือไม่ อันเป็นประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจฟ้องในคดีนี้ จึงยังเป็นข้อที่โจทก์และจำเลยทั้งแปดโต้เถียงกันอยู่ ควรให้โอกาสคู่ความนำสืบให้สิ้นกระแสความ การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้งดสืบพยานของคู่ความ แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งแปดต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share