แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๗/๒๕๕๕
วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๕
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๑ บริษัท วังกุหลาบ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๒ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๓ ที่ว่าการอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๔ สำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๐๕/๒๕๕๑ หมายเลขแดงที่ ๑๑๓๔/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ ๒ และที่ ๕ เป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๑ จำเลยทั้งห้าร่วมกันจงใจประมาทเลินเล่อ กลั่นแกล้ง ออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๑๕๙ ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครอง อ้างว่าออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกในเขตป่าไม้ถาวร ป่าแม่ริม แปลงที่ ๑ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ที่ดินแปลงดังกล่าวยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานเป็นการเฉพาะราย มิใช่การเดินสำรวจตามที่จำเลยกล่าวอ้าง โดยมีการสอบสวนและพิสูจน์การทำประโยชน์จนได้ความว่า นายมูล ม่วงใจ ผู้ยื่นคำขอครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๙๑ ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน และจำเลยที่ ๔ อนุมัติออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่นายมูล ซึ่งนายมูลครอบครองต่อเนื่องและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวเรื่อยมา โดยมีค่าตอบแทนและเสียค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย จนกระทั่งต่อมามีการจดทะเบียนขายแก่โจทก์ ขณะรับโอนโจทก์ไม่ทราบว่าเป็นเขตป่าหรือไม่อย่างไร โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๔, ๒๗, ๒๗ ตรี, ๒๗ ทวิ, ๕๙ และ ๕๙ ทวิ การขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของนายมูลเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๕๙ ทวิ และยังมีผลคุ้มครองถึงโจทก์ผู้รับโอนการครอบครองจากนายมูล นอกจากนี้ ที่ดินแปลงดังกล่าวยังมิใช่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔ (๑) และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๔ อีกทั้งมาตรา ๑๒ วรรคท้าย ก็คุ้มครองสิทธิดังกล่าวไว้ด้วย เมื่อไม่ใช่ที่ดินป่าจึงไม่อาจเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่นายมูล จึงสามารถกระทำได้ การกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ หากโจทก์ยังทำประโยชน์และนำที่ดินออกขายให้แก่บุคคลภายนอกหรือจัดทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อน โจทก์จะมีรายได้ไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันที่ดินมีราคาตารางวาละ ไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเอาแก่จำเลยทั้งห้าเป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยอื่นมีคำสั่งไม่รับ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๑๕๙ ตามคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ลงมติให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๑๕๙ ของโจทก์ เนื่องจากออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ เพราะออกทับเขตป่าไม้ถาวร ป่าแม่ริม แปลงที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดินจึงมีคำสั่ง ที่ ๒๔๖/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๑ ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๑๕๙ การกระทำของอธิบดีกรมที่ดินเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของกฎหมาย มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่อธิบดีกรมที่ดินสังกัดอยู่ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาตามฟ้องสูงเกินส่วน เพราะการที่โจทก์รับโอนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๑๕๙ มาจากนายมูล ม่วงใจ ซึ่งบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่า เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ต้องรับผลของการกระทำดังกล่าว ความเสียหายของโจทก์ต้องไปเรียกร้องเอาแก่นายมูลโดยตรง มิใช่เรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๑ ก่อนหน้านี้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา ที่อ้างว่าไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ไม่เป็นความจริง และที่อ้างว่าที่ดินมีราคาซื้อขายกันตารางวาละไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ บาท เป็นการคาดเดาเอาเอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำละเมิดหรือมีความรับผิดอย่างอื่นอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง อีกทั้งต่อมาโจทก์ยังได้อาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นมูลคดีเดียวกับคดีนี้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ และศาลปกครองเชียงใหม่รับฟ้องไว้แล้ว หากโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยที่ ๑ ก็สามารถทำได้ในคดีดังกล่าวอยู่แล้ว กรณีจึงเป็นการที่โจทก์นำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไป จึงขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว และจัดทำความเห็นส่งไปศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาล หรือส่งไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาลต่อไป
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง หรืออยู่ในเขตป่าไม้ถาวรเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติมาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นได้ว่า ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยทั่วไป เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ในขณะที่ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองด้วย เว้นแต่เรื่องที่กฎหมายบัญญัติว่า ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น หากคดีใดมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวและกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องตีความโดยเคร่งครัด ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ นอกจากนี้ การพิจารณาเขตอำนาจของศาลในคดีพิพาทต่าง ๆ จะต้องพิจารณาจากคำฟ้องและคำขอของโจทก์หรือผู้ฟ้องคดีแล้วแต่กรณีเป็นหลัก กรณีตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๑๕๙ ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยซื้อมาจากนายวัชระ ตันตรานนท์ จดทะเบียนซื้อขายเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๒๖ ต่อมา อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งกรมที่ดินที่ ๒๔๖/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๑ เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวของโจทก์ โดยอ้างว่าเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกทับเขตป่าไม้ถาวรป่าแม่ริมแปลงที่ ๑ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๙ และวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๖ โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ที่ดินพิพาทได้ยื่นคำขอออก น.ส.๓ ก. ต่อเจ้าพนักงานเป็นการเฉพาะราย มิใช่การเดินสำรวจตามที่จำเลยกล่าวอ้าง โดยมีการตรวจสอบแล้วว่าบุคคลผู้มีชื่อได้ยื่นคำขอครอบครองทำประโยชน์ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน และได้มีการอนุมัติการออก น.ส.๓ ก. แก่ผู้มีชื่อแล้ว เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนการครอบครองที่ดินดังกล่าวจากผู้มีชื่อ จึงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส.๓ ก. ดังกล่าว เป็นการจงใจประมาทเลินเล่อและกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องศาลขอให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอของโจทก์แล้ว เห็นว่า โจทก์ประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ อันสืบเนื่องจากการที่อธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ ๑ อาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ออกคำสั่งเพิกถอน น.ส.๓ ก. ที่พิพาท ซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และโดยที่การเพิกถอน น.ส.๓ ก.ดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของอธิบดีกรมที่ดินที่มีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ คือ อธิบดีกรมที่ดิน ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยสั่งให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินแก่โจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แม้ว่าการที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ ศาลอาจต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง หรืออยู่ในเขตป่าไม้ถาวร เพื่อที่จะนำไปสู่ประเด็นพิพาทว่าคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่โดยที่กรณีนี้เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินระหว่างรัฐกับเอกชน มิใช่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินระหว่างเอกชนกับเอกชน จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน เนื่องจากโดยหลักแล้วหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใช่ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ หรือทรงสิทธิครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน นอกจากนั้น ในการดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายของรัฐที่มีอยู่เหนือเอกชน ซึ่งต่างจากกรณีที่เอกชนอ้างกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเพื่อจัดการที่ดินของตน ประกอบกับโจทก์ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดินเป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ โดยขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีและให้คืนสิทธิ น.ส.๓ ก. ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว อันเป็นมูลคดีเดียวกันกับมูลคดีในคดีนี้ ด้วยเหตุนี้ เรื่องที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนฟ้องจำเลยทั้งห้าในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง โดยอ้างว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันจงใจประมาทเลินเล่อ กลั่นแกล้ง ออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๑๕๙ ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครอง อ้างว่าออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกในเขตป่าไม้ถาวรป่าแม่ริม แปลงที่ ๑ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ ๑ ให้การว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๑๕๙ ตามคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ลงมติให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๑๕๙ ของโจทก์ เนื่องจากออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ เพราะออกทับเขตป่าไม้ถาวร ป่าแม่ริม แปลงที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดินจึงมีคำสั่ง ที่ ๒๔๖/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๑ ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๑๕๙ การกระทำของอธิบดีกรมที่ดินเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของกฎหมาย มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่อธิบดีกรมที่ดินสังกัดอยู่ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายโจทก์ต้องไปเรียกร้องเอาจากผู้ที่โอนที่ดินให้แก่โจทก์ เนื่องจากผู้โอนบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทั้งห้าโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรืออยู่ในเขตป่าไม้ถาวรเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัท วังกุหลาบ จำกัด โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๒ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๓ ที่ว่าการอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๔ สำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๕ จำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ