แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๖๒/๒๕๕๕
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕
เรื่อง การยื่นคำร้องโต้แย้งคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
นายธงทอง รักตประจิต ทนายความของนางพัทยา กิตติเวช ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีของศาลแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๕/๒๕๕๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๖/๒๕๕๕ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลสั่งศาลปกครองให้เพิ่มประเด็นข้อพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดิน
ข้อเท็จจริงในคดี
สำนักงานศาลยุติธรรมมีหนังสือที่ ศย ๐๑๖/๕๒๗๐๙ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลแพ่งและศาลปกครองกลาง ในคดีที่นางพัทยา กิตติเวช โจทก์ ยื่นฟ้อง พลตำรวจเอก ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ที่ ๑ นางชัชชมา สมบูรณ์ทรัพย์ ที่ ๒ นายวิชัย เลิศพัฒนพันธุ์ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๕/๒๕๕๒ อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๙๗๙ ตำบลทุ่งสองห้อง (สีกัน) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑๙๙ ตารางวา ขณะโจทก์ขอรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ ได้สมคบกับจำเลยที่ ๓ โดยให้จำเลยที่ ๓ กล่าวอ้างกับโจทก์ว่า โจทก์ก่อสร้างรั้วด้านทิศตะวันตก ไม่ถึงแนวเขตที่ดิน และให้โจทก์ขยับเสาหลักเขตรั้วออกไปอีก ๑๐ เซ็นติเมตร เจตนาจะให้ที่ดินของโจทก์ฝั่งทิศตะวันออก เนื้อที่ประมาณ ๐.๔ ตารางวา ตกเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำให้การก่อสร้างอาคารในที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีระยะขอบนอกถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อโจทก์สอบเขตที่ดินใหม่โดยนายประวิทย์เป็นผู้รังวัดสอบเขต ผลการรังวัดปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ รังวัดที่ดินของโจทก์รุกล้ำที่ดินสาธารณูปโภคของหมู่บ้านจัดสรรทั้งสองด้านเนื้อที่ ๐.๔ ตารางวา และที่มุมปาดมุมซอยเกษตร ๐.๑ ตารางวา โดยมีเจตนาไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินและรูปแผนที่ของจำเลยที่ ๓ ที่ได้กระทำไว้ในโฉนดที่ดินของโจทก์ โดยให้มีผลถึงการเพิกถอนการรังวัดสอบเขตและรูปแผนที่ต้นร่างที่กระทำโดยนายประวิทย์ด้วย และให้ศาลมีคำสั่งเป็นหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาดอนเมือง ดำเนินการรังวัดสอบเขตและให้ปักเสาหลักเขตที่ดินของโจทก์เสียใหม่ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งศาลแพ่งเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนศาลปกครองกลาง เห็นว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ในคดีดังกล่าวว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นช่างรังวัดที่ดินดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต กล่าวอ้างว่าโจทก์ก่อสร้างรั้วด้านทิศตะวันตกไม่ถึงแนวเขตที่ดิน และให้โจทก์ขยับเสาหลักเขตรั้วออกไปอีก ๑๐ เซ็นติเมตร โดยมีเจตนาที่จะตัดที่ดินด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ประมาณ ๐.๔ ตารางวา ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออก เพื่อให้อาคารที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก่อสร้างมีระยะขอบนอกอาคารถึงเขตที่ดินถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๔ อันเป็นการหลีกเลี่ยงความผิดตามกฎหมาย ทำให้ที่ดินของโจทก์ไปรุกล้ำที่ดินในส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคของหมู่บ้านจัดสรร ขอให้เพิกถอนการรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทและรูปแผนที่ของจำเลยที่ ๓ และให้ดำเนินการรังวัดสอบเขตและให้ปักเสาหลักเขตที่ดินของโจทก์ให้ถูกต้อง กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อให้ศาลเพิกถอนผลการรังวัดสอบเขตที่ดินและรูปแผนที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำสั่งให้ดำเนินการรังวัดสอบเขตที่ดินให้ถูกต้อง คดีไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด ดังนั้นข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายธงทอง รักตประจิต ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลในกรณีที่คณะกรรมการได้วินิจฉัยว่า คดีไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด เป็นคำสั่งหรือวินิจฉัยชี้ขาดที่ทำให้ประเด็นข้อพิพาทแนวเขตที่ดินของโจทก์หายไปจากประเด็น ข้อพิพาทที่ศาลแพ่งได้กำหนดไว้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และอาจถูกกระทบกระเทือนถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ไม่ครบจำนวน ๑๙๙ ตารางวา และไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลสั่งให้ศาลปกครองเพิ่มประเด็นข้อพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินจำนวน ๑ ๒/๑๐ ตารางวา ว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และยื่นคำร้องเพิ่มเติม ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ขอให้เพิ่มประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ ๓ รังวัดที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตก (ด้านที่ติดกับถนนแจ้งวัฒนะ ๑๔) โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คำร้องของผู้ร้องชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าว อยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวัน โดยให้บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นนั้นไว้ด้วย
วรรคสองบัญญัติว่า คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามวรรคหนึ่ง (๓) ให้เป็นที่สุด และมิให้ศาลที่อยู่ในลำดับสูงขึ้นไปของศาลตามวรรคหนึ่งยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นพิจารณาอีก
วรรคสามบัญญัติว่า ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเอง ก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการนำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไป ถ้าคู่ความหรือศาลเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลใดศาลหนึ่งที่รับฟ้อง ให้นำความในมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด แต่ศาลนั้นไม่รับฟ้องเพราะเหตุว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว หากศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย โดยให้นำความในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความหรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด
มาตรา ๑๕ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐ ถึงมาตรา ๑๔ ไปใช้กับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา การยื่นคำร้องต่อศาลก่อนการฟ้องคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ การสืบพยานหลักฐานไว้ก่อนฟ้องคดี การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ประการอื่นของศาลโดยอนุโลม
จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น การจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้นั้น จะต้องเป็นกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) หรือวรรคสาม มาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๕ โดยคู่ความยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องเป็นหลัก เว้นแต่กรณีศาลเห็นเองตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม และกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ โดยคู่ความหรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าว อาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลสั่งให้ศาลปกครองเพิ่มประเด็นข้อพิพาท จึงไม่ใช่กรณีเรื่องเขตอำนาจศาลหรือกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แต่อย่างใด กรณีจึงเป็นการยื่นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการจึงไม่อาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา
จึงมีคำสั่งว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้องนี้เสีย
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ