แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 56 บัญญัติให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม โดยมาตรา 57 บัญญัติว่า แบบผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น ต้องไม่เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักร หรือได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร หรือเคยมีประกาศโฆษณามาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตร หรือเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยมาแล้วดังกล่าว จนเห็นได้ว่าเป็นการเลียนแบบ ซึ่งมีขอบเขตของการพิจารณาแตกต่างจากการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 โดยการประดิษฐ์ขั้นสูงขึ้นไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรประเภทนี้ ฉะนั้น การออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะพิจารณาเฉพาะความใหม่ของรูปทรงหรือลักษณะภายนอกของแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตร เปรียบเทียบกับแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการใช้หรือได้เปิดเผยอยู่แล้วโดยตรงว่ามีความแตกต่างกันชัดเจนที่สามารถดึงดูดความสนใจของประชาชนได้ ที่จำเลยที่ 1 อ้างมานั้นเป็นข้อแตกต่างกันในเรื่องโครงสร้างหรือกลไกวิธีการทำงานที่เป็นการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้สะดวกมากขึ้น อันอาจเป็นข้อพิจารณาสำหรับการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีอื่น ๆ ได้ แต่ไม่ใช่หลักสำคัญในการพิจารณาความใหม่ของการออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ ทั้งแบบพิมพ์อลูมิเนียมที่ใช้ในการตัดดอกไม้ที่ทำจากดินหรือตัวตัดดินนั้น โจทก์นำรูปแบบมาจากเอกสารทางวิชาการและนิตยสารที่มีการเผยแพร่ทั่วไป แบบพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ออกสิทธิบัตรให้จึงเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการเปิดเผยสาระสำคัญของแบบผลิตภัณฑ์ในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ขอรับสิทธิบัตร จึงไม่ใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่สมบูรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนสิทธิบัตร เลขที่ 17562 เลขที่ 17563 และเลขที่ 17564 ที่ออกให้แก่จำเลยที่ 1 หรือให้คำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท และให้ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจำเลยที่ 1 ด้วย
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ขอถอนฟ้องแย้ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 17562 เลขที่ 17563 และเลขที่ 17564 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 17562 เลขที่ 17563 และเลขที่ 17564 เป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 56 บัญญัติให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม โดยมาตรา 57 บัญญัติว่า แบบผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น ต้องไม่เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรหรือได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรหรือเคยมีประกาศโฆษณามาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตรหรือเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยมาแล้วดังกล่าว จนเห็นได้ว่าเป็นการเลียนแบบ ซึ่งมีขอบเขตของการพิจารณาแตกต่างจากการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 โดยการประดิษฐ์ขั้นสูงขึ้นไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรประเภทนี้ ฉะนั้น การออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะพิจารณาเฉพาะความใหม่ของรูปทรงหรือลักษณะภายนอกของแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรเปรียบเทียบกับแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการใช้หรือได้เปิดเผยอยู่แล้วโดยตรงว่ามีความแตกต่างกันชัดเจนที่สามารถดึงดูดความสนใจของประชาชนได้ ปัญหานี้ โจทก์นำสืบว่า แบบผลิตภัณฑ์แบบพิมพ์อลูมิเนียมที่จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิบัตรตามคำขอรับสิทธิบัตร เป็นแบบพิมพ์ชนิดเดียวกันกับวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ที่โจทก์เคยให้จำเลยที่ 1 ทำให้เพื่อใช้ในการเรียนการสอน โดยแบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 เป็นแบบพิมพ์อลูมิเนียมที่ใช้ในการตัดดอกไม้ที่ทำจากดินหรือตัวตัดดิน ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ชนิดเดียวกับแบบพิมพ์งานปั้นดอกไม้ดินที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร ส่วนแบบพิมพ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรมีร่องบากและมีรูที่ตัวพิมพ์ แต่แบบพิมพ์ทั้งสองแบบมีรูปทรงเหมือนกัน ต่างกันที่ตัวตัดดินจะมีความคมกว่าเท่านั้น สำหรับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิบัตรตามคำขอรับสิทธิบัตร แม้จะแตกต่างจากแบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 แต่แบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ก็สามารถดัดรูปทรงให้เป็นแบบเดียวกันได้ ส่วนแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิบัตรตามคำขอรับสิทธิบัตรมีความแตกต่างจากแบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 และแบบพิมพ์ที่อยู่ในรูปถ่ายในหนังสือนิตยสาร โดยแบบพิมพ์จะมีรอยบากแตกต่างกัน เนื่องจากรอยบากดังกล่าวมีไว้ใช้ยึดลวดให้ลงตรงช่องที่บากไว้ ซึ่งไม่มีความจำเป็นเนื่องจากการประดิษฐ์ดอกไม้แต่ละดอกมีความแตกต่างกัน ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำแบบพิมพ์แบบไม่มีร่องตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ซึ่งมีรูปทรงเป็นหยดน้ำ เนื่องจากภรรยาไปเรียนการประดิษฐ์ดอกไม้ผ้าใยบัว โดยใช้ท่อพีวีซีเป็นแม่พิมพ์เวลาดัดจึงมีลักษณะกลมและจะต้องมาดัดให้เป็นหยดน้ำในภายหลัง ซึ่งไม่คงที่แน่นอน กลีบบัวแต่ละกลีบจึงมีความแตกต่างกัน จึงได้ทำแบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 เพื่อให้กลีบบัวทุกดอกเท่ากัน และมอบให้ภรรยานำไปให้โจทก์ในชั้นเรียนโดยคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน แบบพิมพ์ที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนตามคำขอรับสิทธิบัตร ปรากฏตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 และ ว.ล.5 โดยวัตถุพยานหมายดังกล่าวมีหลายขนาดในรูปทรงเดียวกันซึ่งจำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเพียงวัตถุพยานหมาย ว.ล.5 เพียงชิ้นเดียว ซึ่งวัตถุพยานหมาย ว.ล.5 มีความแตกต่างจากวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 เนื่องจากวัตถุพยานหมาย ว.ล.5 มีร่องบาก ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญของแบบพิมพ์ เนื่องจากสามารถใช้รอยบากยึดดามโครงลวดภายนอกให้แข็งแรงได้ ทำให้เมื่อนำผ้าใยบัวมาเข้าเพื่อทำกลีบบัวแล้วแบบจะไม่ยุบตัวและโครงลวดมีความคงที่ เห็นว่า โจทก์จบการศึกษาครุศาสตร์บัณฑิต สาขาคหกรรมศาสตร์ วิชาเอกศิลปประดิษฐ์และเป็นอาจารย์สอนหลักสูตรการประดิษฐ์ดอกไม้ในวิทยาลัยการอาชีพ ย่อมมีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องแบบพิมพ์การประดิษฐ์ดอกไม้ดีกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเดิมประกอบอาชีพช่างซ่อมสีรถยนต์ คำเบิกความของโจทก์ที่อธิบายถึงรายละเอียดชื่อเรียกเฉพาะด้านของแบบพิมพ์และลักษณะคล้ายกันของรูปทรงของแบบผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 กับแบบผลิตภัณฑ์วัตถุพยานหมาย ว.ล.3 และ ว.ล.5 ดังกล่าวข้างต้น จึงน่าจะเป็นไปตามหลักวิชาการ มีน้ำหนักให้รับฟังและเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เชื่อได้ว่าที่จำเลยที่ 1 ทำแบบพิมพ์ดอกไม้ประดิษฐ์ได้ ก็เป็นเพราะนางประคองภรรยาของจำเลยที่ 1 มาเป็นลูกศิษย์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้เรียนรู้วิชาการทำแบบพิมพ์ดอกไม้จากโจทก์และต่อมาโจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำแบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ให้แก่โจทก์เพื่อใช้สอนนักเรียนในหลักสูตรการประดิษฐ์ดอกไม้ พฤติการณ์ไม่น่าเชื่อว่าแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเกิดจากความคิดค้นของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น แต่น่าจะเกิดจากการสอนของโจทก์และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้พัฒนาทำแบบพิมพ์เพิ่มเติมในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยแบบพิมพ์ที่เรียนรู้จากโจทก์เป็นต้นแบบในการประดิษฐ์เป็นแบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 และ ว.ล.5 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณารูปทรงตามแบบพิมพ์ ที่ส่งศาลดังกล่าวแล้วเห็นว่า แบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 กับแบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 และว.ล.5 ที่จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรมีรูปทรงภายนอกคล้ายกัน แม้จะมีขนาดหรือชื่อเรียกแบบพิมพ์แตกต่างกันไป แต่ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นแบบพิมพ์ทรงหยดน้ำเช่นเดียว กัน กรณีไม่ถือว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในสาระสำคัญ จำเลยที่ 1 เองก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าแบบพิมพ์ทั้งสองมีรูปทรงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากแต่โต้เถียงว่าแบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 และ ว.ล.5 มีความแตกต่างตรงที่มีร่องบากซึ่งเป็นสาระสำคัญเพราะเป็นการช่วยยึดโครงเหล็กของแบบพิมพ์ให้คงทนแข็งแรง ซึ่งสิ่งที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างดังกล่าวนี้ เป็นข้อแตกต่างกันในเรื่องโครงสร้างหรือกลไกวิธีการทำงานที่เป็นการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้สะดวกมากขึ้น อันอาจเป็นข้อพิจารณาสำหรับการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีอื่น ๆ ได้ แต่ไม่ใช่หลักสำคัญในการพิจารณาความใหม่ของการออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ เมื่อปรากฏว่าแบบพิมพ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ .1 ดังกล่าว โจทก์ได้นำรูปแบบจากเอกสารทางวิชาการและนิตยสารที่ได้มีการพิมพ์เผยแพร่ทั่วไป แบบผลิตภัณฑ์แบบพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ตามวัตถุพยานหมาย ว.ล.3 และ ว.ล.5 ซึ่งจำเลยที่ 2 ออกสิทธิบัตรให้ตามสิทธิบัตรเลขที่ 17562 เลขที่ 17563 และเลขที่ 17564 จึงเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญของแบบผลิตภัณฑ์ในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ขอรับสิทธิบัตร แบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ และเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่สมบูรณ์ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 56 ประกอบมาตรา 57 (2) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ