คำวินิจฉัยที่ 25/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้เอกชนยื่นฟ้องเอกชนด้วยกัน ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่จำเลยที่ ๔ รับโอนมา แล้วให้ที่ดินกลับคืนเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสามสิบห้าจะฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท และให้ที่ดินกลับคืนเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่คดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ไม่มีคู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การโต้แย้งอยู่ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ดังนั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยให้ได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่เป็นสำคัญ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๕/๒๕๕๖

วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๔ นายทองหลาง ชินทวัน ที่ ๑ กับพวกรวม ๓๕ คน โจทก์ ยื่นฟ้องนายเฉลิมชัย สุวรรณมาศ ที่ ๑ กับพวกรวม ๔ คน จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๑/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์ทั้งสามสิบห้าเป็นชาวบ้าน บ้านกุดระงุม หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๑๑ ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้าน โดยปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้าไปกินหญ้าตอนเช้าและต้อนกลับคอกในตอนเย็นสมัยบิดามารดา ตั้งแต่ปี ๒๔๙๙ เรื่อยมา แต่เมื่อประมาณต้นปี ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นพ่อค้าและนายทุนได้ขอออกโฉนดที่ดินในทำเลเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว แล้วเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๔๗๗ เลขที่ ๔๘๕๗๙ เลขที่ ๔๘๔๗๘ และเลขที่ ๔๘๕๓๗ ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี รวม ๔ แปลง หลังจากได้รับโฉนดที่ดินแล้ว จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒ นำที่พิพาทไปจำนองประกันหนี้ ส่วนจำเลยที่ ๓ ขายที่ดินพิพาทหนึ่งแปลงให้แก่จำเลยที่ ๔ ต่อมากลางปี ๒๕๕๓ โจทก์ทั้งสามสิบห้าและประชาชนทั่วไปถูกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ขัดขวางห้ามมิให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปเลี้ยงในที่ดินพิพาท จึงตรวจสอบกับสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ จนทราบว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ออกโฉนดทับที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง ๔ แปลงดังกล่าว แล้วให้ที่ดินกลับคืนเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันต่อไป
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การและฟ้องแย้งว่า สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ออกโฉนดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงโดยชอบ ในระหว่างออกโฉนดที่ดินพิพาทมีการคัดค้านจากชาวบ้าน แต่ทางราชการได้สอบสวนและมีความเห็นว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์ทั้งสามสิบห้าและบริวารเป็นฝ่ายบุกรุกที่ดินพิพาท ฟ้องโจทก์ทั้งสามสิบห้าขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องและขอให้ขับไล่โจทก์ทั้งสามสิบห้าและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท พร้อมเรียกค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๔ ให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามสิบห้าเคลือบคลุม โจทก์ทั้งสามสิบห้าไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ ๔ ซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๔๘๕๓๗ มาจากจำเลยที่ ๓ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน อีกทั้งจำเลยที่ ๓ ขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยชอบ โดยโจทก์ทั้งสามสิบห้าไม่เคยโต้แย้งคัดค้านมาก่อน และที่ดินพิพาทแปลงนี้มิใช่ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสามสิบห้าไม่อาจบังคับได้ เนื่องจากมีคำขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินโดยมิได้ฟ้องกรมที่ดินซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกและเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยตรงเข้ามาในคดี ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามสิบห้าให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบ จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท โดยที่ดินพิพาทเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามสิบห้าฟ้องว่า โฉนดที่ดินของจำเลยทั้งสามได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสามสิบห้าบรรยายว่า โจทก์ทั้งสามสิบห้าเป็นชาวบ้าน จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นพ่อค้าและนายทุนต่างเป็นญาติพี่น้องที่ใช้นามสกุลเดียวกันขอออกโฉนดที่ดินในที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ที่ชาวบ้านและโจทก์ทั้งสามสิบห้าใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ และจำเลยที่ ๓ ขายที่ดินพิพาทแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ ๔ ดังนั้น โจทก์ทั้งสามสิบห้าและจำเลยที่สี่จึงเป็นเอกชนด้วยกัน สำหรับในส่วนที่โจทก์ทั้งสามสิบห้าบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้านอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันและมีคำขอบังคับให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวนั้น จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การต่อสู้ว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ขอโดยชอบ จึงเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่เอกชนฟ้องเอกชนขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดิน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าเป็นที่ดินของเอกชนหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ศาลจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งโจทก์มิได้ฟ้องหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรเข้ามาด้วย จึงไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใด อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่งและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ เนื่องจากที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ด้วยเหตุนี้บทบัญญัติแห่งกฎหมายในหลายฉบับจึงได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มิได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชนคนใดหรือกลุ่มใดดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ที่กำหนดให้นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในเขตอำเภอ ในมาตรา ๑๖ (๒๗) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง และในมาตรา ๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้กำหนดให้อธิบดีกรมที่ดิน มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน โดยอธิบดีกรมที่ดินอาจจัดให้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพื่อแสดงเขตที่ดินดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานได้ ตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสามสิบห้าซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ที่ตั้งอยู่บ้านกุดระงุม หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๑๑ ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้นำรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ รวม ๔ แปลง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามสิบห้าและประชาชนทั่วไปถูกขัดขวางและห้ามมิให้นำสัตว์เข้าไปเลี้ยงในที่ดินพิพาท จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ศาลมีคำบังคับเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง แล้วให้ที่ดินกลับคืนเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป เห็นว่า แม้พิจารณาคำฟ้องในเบื้องต้นแล้ว คดีนี้จะเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนก็ตาม แต่หากพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีและประเด็นที่พิพาทแล้วเป็นเรื่องที่พิพาทกันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามสิบห้ามิได้กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยทั้งสี่หรือยกข้อต่อสู้เพื่อหักล้างกันว่าใครมีสิทธิดีกว่ากัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างเอกชนด้วยกันเองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เป็นเรื่องที่ศาลต้องพิสูจน์ถึงสถานะที่แท้จริงของที่ดินพิพาทโดยอาศัยพยานหลักฐานและเอกสารของทางราชการว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่ ซึ่งหากคดีนี้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คู่ความฝ่ายโจทก์ทั้งสามสิบห้าซึ่งเป็นเอกชนจะอยู่ในฐานะเสียเปรียบที่ไม่อาจทราบหรือเข้าถึงข้อมูล เอกสารหลักฐานของทางราชการได้ การพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะจึงจำเป็นต้องใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดีเพื่อให้ศาลควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาและรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหลายในคดีและพยานหลักฐานที่จำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุดและอย่างรอบด้านที่สุด เพื่อวินิจฉัยข้อพิพาทและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะโดยไม่ถูกจำกัดให้พิจารณาเฉพาะข้อเท็จจริงที่คู่ความเสนอ และหากในระหว่างการพิจารณาคดี คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกัน หรือโจทก์อาจถอนฟ้อง เนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันโดยมิได้มีการพิสูจน์ถึงสถานะที่แท้จริงของที่ดินที่พิพาทนี้ อาจทำให้ประชาชนเสียสิทธิในการใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน คดีนี้จึงสมควรได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลปกครอง ดังนั้น แม้ว่าคำฟ้องจะเป็นเรื่องที่เอกชนฟ้องเอกชน แต่การที่โจทก์ทั้งสามสิบห้า ขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินที่พิพาท กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีโต้แย้งคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ที่สั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจเรียกหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท ได้แก่กรมที่ดิน และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ เข้ามาเป็นคู่กรณีได้ตามข้อ ๗๘ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบกับมาตรา ๕๗ (๓) (ข) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้วกำหนดเป็นข้อพิพาทตามเหตุแห่งการฟ้องคดีข้างต้นว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการด้วยการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสามสิบห้าที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่า โฉนดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นที่ดินของเอกชนหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์นั้น แม้ศาลจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการออกโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการพิจารณาในปัญหาดังกล่าวนี้ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงสามารถนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง” คดีนี้โจทก์ทั้งสามสิบห้าเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์ทั้งสามสิบห้าเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้านสมัยบิดามารดา แต่ถูกเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ออกโฉนดที่ดินทับที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๔๗๗ เลขที่ ๔๘๕๗๙ เลขที่ ๔๘๔๗๘ และเลขที่ ๔๘๕๓๗ รวม ๔ แปลง โดยจำเลยที่ ๓ ขายที่ดินหนึ่งแปลงให้แก่จำเลยที่ ๔ อันเป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว แล้วให้ที่ดินกลับคืนเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันต่อไป ส่วนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ออกโฉนดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ขอ โดยชอบ ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ทั้งสามสิบห้าและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท พร้อมเรียกค่าเสียหาย และจำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๔๘๕๓๗ มาจากจำเลยที่ ๓ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ ๓ ขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวมาโดยชอบ และที่ดินพิพาทแปลงนี้มิใช่ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสามสิบห้าจะฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท และให้ที่ดินกลับคืนเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันก็ตาม แต่คดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การโต้แย้งอยู่ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ดังนั้น ศาลจำต้องวินิจฉัยให้ได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่เป็นสำคัญ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายทองหลาง ชินทวัน ที่ ๑ กับพวกรวม ๓๕ คน โจทก์ นายเฉลิมชัย สุวรรณมาศ ที่ ๑ กับพวกรวม ๔ คน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share