แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในชั้นสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่าทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์และเป็นของทางราชการและได้สอบปากคำพยานเกี่ยวกับข้อหาว่า จำเลยทำให้เสียหายทำลายท่อส่งน้ำคอนกรีต และก้านพวงมาลัยปิดเปิดประตูน้ำและได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุพร้อมทำบันทึกความเสียหายไว้ด้วยเช่นนี้ แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 แล้วโดยไม่ต้องแจ้งทุกกระทงความผิด และได้รวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาจำเลยแล้ว จึงถือว่า ได้มีการสอบสวนในข้อหาดังกล่าวโดยชอบ พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือจำเลยทำให้เสียหาย ทำลายท่อส่งน้ำคอนกรีต และก้านพวงมาลัยปิดเปิดประตูน้ำที่เหมืองซอยที่ 11 ของอ่างเก็บน้ำแม่มาน และทำให้เสียหาย ทำลายกุญแจล็อกประตูน้ำ 1 อัน ที่ประตูน้ำเหมืองซอยที่ 11อันเป็นทรัพย์สินที่ใช้และมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ของกรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358, 360
จำเลยให้การรับสารภาพความผิดฐานทำให้เสียหายซึ่งกุญแจล็อกประตูน้ำส่วนความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลายท่อส่งน้ำคอนกรีต และก้านพวงมาลัยปิดเปิดประตูน้ำ จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานทำให้เสียหายทำลายกุญแจล็อกประตูน้ำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360ลงโทษจำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงลงโทษจำคุก 3 เดือน คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำให้เสียหายทำลายท่อส่งน้ำคอนกรีต และก้านพวงมาลัยปิดเปิดประตูน้ำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ลงโทษจำคุก 6 เดือน อีกกระทงหนึ่งรวมเป็นจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าในข้อหาฐานทำให้เสียหาย ทำลายท่อส่งน้ำคอนกรีตและก้านพวงมาลัยปิดเปิดประตูน้ำซอยที่ 11 ได้มีการสอบสวนแล้วหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(11) บัญญัติว่า”การสอบสวน” หมายถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษมาตรา 134 บัญญัติว่า เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียกหรือส่งตัวมาหรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเองหรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว นามสกุล ชาติ บังคับ บิดามารดาอายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งข้อหาให้ทราบ ฯลฯ ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกเสถียร พนักงานสอบสวนคดีนี้ซึ่งมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ได้รับคำร้องทุกข์จากนายช่างหัวหน้าโครงการชลประทานว่า จำเลยทำให้ทรัพย์ของทางราชการเสียหาย คือคอนกรีตท้ายท่อส่งน้ำ ก้านพวงมาลัยปิดเปิดประตูน้ำ และกุญแจล็อกก้านพวงมาลัยเสียหาย ครั้นวันที่ 23 สิงหาคม 2534เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ ชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหาจำเลยว่าทำให้เสียทรัพย์ซึ่งใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์และเป็นของทางราชการ ดังปรากฏตามบันทึกการจับกุมจำเลยเอกสารหมาย จ.6และพยานได้สอบสวนนายสาย ดอยลอม ไว้เป็นพยานเกี่ยวกับข้อหาว่าจำเลยทำให้เสียหาย ทำลายท่อส่งน้ำคอนกรีตและก้านพวงมาลัยปิดเปิดประตูน้ำ ดังปรากฏตามบันทึกคำให้การพยานเอกสารหมาย จ.5ซึ่งนายสาย ดอยลอม ระบุว่าได้รับแจ้งจากนายล้วนว่าจำเลยทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวเสียหาย ทั้งร้อยตำรวจเอกเสถียรได้ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและทำบันทึกไว้ ดังปรากฏตามบันทึกเอกสารหมายจ.3 ซึ่งระบุว่าท่อส่งน้ำคอนกรีตมีรอยแตกและก้านพวงมาลัยปิดเปิดประตูน้ำเสียหาย เช่นนี้แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134แล้วโดยไม่ต้องแจ้งทุกกระทงความผิด และพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาจำเลยดังกล่าวแล้วจึงถือว่าได้มีการสอบสวนในข้อหาดังกล่าวโดยชอบตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามข้อหานั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยกระทงละ 1,000 บาท ความผิดกระทงหลังจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับ 500 บาท รวมปรับ 1,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2