คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10476/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิมพ์คำพิพากษาว่า “ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท” เป็นการพิมพ์ตกเลข 1 ไป เท่านั้น ที่ถูกต้องแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ 15 ปี ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นเพียงการแก้ไขในส่วนที่พิมพ์ผิดพิมพ์ตกเท่านั้น มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 138, 140 ริบอาวุธมีดของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 38/2551 ของศาลจังหวัดนครปฐม ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถยนต์กระบะของกลาง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 แล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม(2)), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคแรก ประกอบมาตรา 138 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 20 ปี และปรับ 600,000 บาท ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 36 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากมีการกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังแทนค่าปรับต่อจากโทษจำคุกมีกำหนดไม่เกิน 2 ปี ริบอาวุธมีดของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อเนื่องจากไม่ปรากฏในทางนำสืบของโจทก์ว่าคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ทั้งจำเลยต่อสู้ว่าคดีดังกล่าวศาลรอการลงโทษจำคุก จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 15 ปี และปรับ 400,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ยุติเป็นเบื้องต้นว่า ของกลางที่เป็นเม็ดรวม 640 เม็ด เป็นเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีน้ำหนักรวม 58.808 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 14.755 กรัม สำหรับความผิดฐานต่อสู้และขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้เพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกปิยภัทร ซึ่งขณะเกิดเหตุมียศร้อยตำรวจโทกับสิบตำรวจตรีโชคชัย เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสังกัดกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 416 จังหวัดสุราษฎรธานี เบิกความเป็นทำนองเดียวกันว่าก่อนจับกุมจำเลยกับนางประภารัตน์หรือไก่นั้น ร้อยตำรวจเอกปิยภัทรได้รับแจ้งจากสายลับว่านางประภารัตน์ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ค้ารายย่อยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงให้สิบตำรวจตรีโชคชัย สืบสวน จนวันที่ 31 ธันวาคม 2550 สายลับแจ้งแก่สิบตำรวจตรีโชคชัยว่าสามารถติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนางประภารัตน์ได้ 2 ถุง จำนวน 200 เม็ด ราคารวม 62,000 บาท โดยนัดส่งมอบที่บริเวณหน้าร้านเขียงซึ่งอยู่บริเวณถนนสายราชบุรี – นครปฐม ในท้องที่อำเภอโพธาราม ในวันที่ 1 มกราคม 2551 เวลา 3 นาฬิกา พยานโจทก์ดังกล่าวกับพวกจึงวางแผนจับกุม และเตรียมเงินล่อซื้อโดยถ่ายสำเนาไว้และแบ่งกำลังออกเป็น 3 ชุด สำหรับสิบตำรวจตรีโชคชัยกับสายลับขับรถไปที่ร้านเขียงด้วยกัน และเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 ชุด ติดตามไปโดยทิ้งระยะห่างพอสมควร สิบตำรวจตรีโชคชัยขับรถไปถึงบริเวณริมถนนหน้าร้านเขียงประมาณ 17 นาฬิกา พบนางประภารัตน์ยืนอยู่ริมถนนท้ายรถยนต์กระบะที่จอดอยู่มีจำเลยนั่งตรงที่นั่งคนขับ สายลับเปิดกระจก นางประภารัตน์เข้ามาถามถึงเงิน สิบตำรวจตรีโชคชัยก็ส่งเงินที่เตรียมไว้ล่อซื้อให้สายลับส่งต่อให้นางประภารัตน์ จากนั้นนางประภารัตน์นำเงินไปส่งให้จำเลยที่รถและรับมอบสิ่งของแล้วเดินกลับมาส่งสิ่งของนั้นซึ่งเป็นกล่องกระดาษพันด้วยเทปสีดำให้แก่สายลับ และสายลับส่งต่อให้สิบตำรวจตรีโชคชัยตรวจดูจนรู้ว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนสิบตำรวจตรีโชคชัยก็กดปุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้สัญญาณแก่ร้อยตำรวจเอกปิยภัทร จากนั้นร้อยตำรวจเอกปิยภัทรกับพวกจึงเข้าไปยังที่เกิดเหตุ และร้อยตำรวจเอกปิยภัทรตรงไปหาจำเลยที่รถยนต์กระบะโดยมีบัตรเจ้าพนักงานตำรวจแขวนคอไว้ เมื่อร้อยตำรวจเอกปิยภัทรจะเปิดประตูรถยนต์กระบะด้านคนขับ จำเลยก็เปิดประตูจากด้านในกระแทก แต่ร้อยตำรวจเอกปิยภัทรเบี่ยงตัวหลบ จำเลยก็เอี้ยวตัวหยิบมีดสปาต้ายาวประมาณ 1 ศอก และจะก้าวออกจากรถร้อยตำรวจเอกปิยภัทรปัดด้ามมีดและบิดจนมีดหล่น จำเลยก็ชกหน้าร้อยตำรวจเอกปิยภัทรซึ่งเข้าคล่อมตัวจำเลยไว้และกอดรัดเหวี่ยงกันในที่สุดเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปใส่กุญแจมือที่จำเลยจนจับกุมไว้ได้ แล้วตรวจค้นตัวจำเลยพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ 62,000 บาท ในกระเป๋ากางเกงด้านหน้าข้างขวา และตรวจค้นรถยนต์กระบะที่จำเลยขับไปนั้นพบเมทแอมเฟตามีนอีก 2 ถุง บรรจุในถุงสีฟ้าเก็บไว้ที่คอนโซลด้านซ้าย นอกจากนี้ยังยึดได้โทรศัพท์เคลื่อนที่จากนางประภารัตน์ปรากฏหมายเลขโทรศัพท์ของสายลับที่โทรศัพท์ไปยังเครื่องโทรศัพท์นี้ และยังยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกหลายเครื่อง รวมทั้งมีดสปาต้า รถยนต์กระบะกับสมุดจดบัญชีเครือข่ายค้าเมทแอมเฟตามีนของจำเลยเป็นของกลาง เห็นได้ว่า พยานโจทก์ 2 ปากนี้ เบิกความแสดงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตั้งแต่การสืบสวน การวางแผนล่อซื้อ การล่อซื้อและการเข้าจับกุมจำเลยกับนางประภารัตน์ได้พร้อมทั้งยึดเมทแอมเฟตามีนและของกลางอื่น ๆ ดังกล่าวโดยละเอียดต้องตรงกันโดยตลอดประกอบด้วยเหตุผล และพยานโจทก์ทั้งสองก็เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุโกรธเคืองจำเลยหรือมีเหตุอื่นใดที่จะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย คำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวจึงปราศจากพิรุธย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังได้มั่นคง ทั้งกรณีต่าง ๆ ตามที่จำเลยฎีกายกขึ้นเป็นข้อโต้แย้งว่าพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับนางประภารัตน์ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้ลงโทษในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 15 ปี และปรับ 400,000 บาท เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยโดยมิชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิมพ์คำพิพากษาว่า “ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท” ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในอีก 2 ฐานความผิด โดยในฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 20 ปี และปรับ 600,000 บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธจำคุก 1 ปี และพิพากษาลงโทษจำคุกในความผิดทั้งสามฐานรวม 36 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ซึ่งย่อมเห็นได้อยู่ในตัวว่า ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้นต้องมีโทษจำคุก 15 ปี จึงจะรวม 3 ฐาน ได้เป็นโทษจำคุก 36 ปี และที่มีการพิมพ์คำพิพากษาว่า “จำคุก 5 ปี” ดังกล่าวนั้นเป็นการพิมพ์ตกเลข 1 ไป เท่านั้น ที่ถูกต้องแล้วศาลชั้นต้นก็พิพากษาลงโทษ 15 ปี นั่นเอง ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นเพียงการแก้ไขในส่วนที่พิมพ์ผิดพิมพ์ตกเท่านั้น มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share