คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1354/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลจังหวัดชลบุรีได้รับมอบหมายจากศาลแพ่งให้ดำเนินการบังคับคดี ยึดทรัพย์และขายทอดตลาดแทน จึงมีอำนาจสั่งไต่สวนเพื่อมีคำสั่งคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ สำหรับการยื่นอุทธรณ์นั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 คู่ความจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เมื่อศาลจังหวัดชลบุรีเป็นศาลที่ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่ไต่สวนและมีคำสั่งคำร้องได้ ศาลจังหวัดชลบุรีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ร้องขอให้บังคับคดี ศาลแพ่งจึงออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลจังหวัดชลบุรีบังคับคดีแทน ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดี จังหวัดชลบุรี ขายทอดตลาดที่ดินตราจองเลขที่ 652 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคา 8,600,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 มีราคาประเมินสูงถึง 12,120,000 บาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีเคยบอกปัดไม่ขายแก่ผู้เสนอราคาสูงสุด 11,000,000 บาท ในการขายทอดตลาดคราวก่อน เมื่อกลับมาขายในราคาที่ต่ำเกินสมควรจึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลจังหวัดราชบุรี มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด
ศาลจังหวัดชลบุรีไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 คืนค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดชลบุรีซึ่งบังคับคดีแทนศาลแพ่งขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดในราคาต่ำไม่เหมาะสม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจังหวัดชลบุรีไต่สวนแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่นำพยานเข้าสืบตามนัด ศาลจังหวัดชลบุรีเห็นว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ประวิงคดี ถือว่าจำเลยที่ 2 ทิ้งคำร้องจึงจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งโดยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดชลบุรี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การบังคับคดีนี้ศาลแพ่งมอบหมายให้ศาลจังหวัดชลบุรีเป็นผู้บังคับคดีแทน การดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการบังคับคดีตั้งแต่การยึดทรัพย์การขายทอดตลาด รวมถึงการไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับทรัพย์รายนี้ล้วนแต่เป็นการที่ศาลจังหวัดชลบุรีกระทำหน้าที่แทนศาลแพ่งซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนี้ทั้งสิ้น ดังนั้นหากจำเลยที่ 2 ประสงค์จะอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลจังหวัดชลบุรีกระทำในนามศาลแพ่ง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความเดิมในคดีนี้อยู่แล้วจะต้องยื่นต่อศาลแพ่ง มิใช่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดชลบุรี การที่ศาลจังหวัดชลบุรีรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าศาลจังหวัดชลบุรีรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงมีว่า การที่ศาลจังหวัดชลบุรีรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้นปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงมีว่า การที่ศาลจังหวัดชลบุรีรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลจังหวัดชลบุรีได้รับมอบหมายจากศาลแพ่งให้ดำเนินการบังคับคดี ยึดทรัพย์และขายทอดตลาดแทน ศาลจังหวัดชลบุรีจึงมีอำนาจสั่งไต่สวนเพื่อมีคำสั่งคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตามกฎหมาย สำหรับการยื่นอุทธรณ์นั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 คู่ความจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนั้นเมื่อศาลจังหวัดชลบุรีเป็นศาลที่ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งคำร้องของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ประสงค์จะอุทธรณ์จึงยื่นต่อศาลจังหวัดชลบุรีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาคดีใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่.

Share