คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมกับจำเลยทำสัญญาจำนำข้าวระหว่างกันโดยโจทก์ร่วมยอมให้ข้าวอยู่ในความครอบครองของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดข้อหาโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 349
โจทก์ร่วมเช่าโกดังเก็บข้าวซึ่งเป็นโกดังที่จำเลยใช้ประกอบกิจการโรงสีของจำเลย เมื่อทำสัญญาเช่าแล้วจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจโกดังเพียงฝ่ายเดียว จำเลยเป็นผู้ครอบครองโกดังอยู่เช่นเดิม สัญญาเช่าที่ทำไว้มีค่าเช่าเพียงปีละ 100 บาท นับว่าน้อยมาก จึงเป็นการทำสัญญาเช่าเป็นแบบพิธีเท่านั้น คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาให้เป็นการเช่าตามกฎหมายอย่างแท้จริง กรณีถือว่าจำเลยยังเป็นผู้ครอบครองโกดังที่เช่าอยู่ตลอดเวลา จำเลยจึงไม่อาจรบกวนการครอบครองของตนเองได้ ไม่มีความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2541 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยกับพวกอีกหลายคนร่วมกันบุกรุกเข้าไปในโกดังเก็บสินค้าข้าวเปลือกและข้าวสาร อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขายโสธร ผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันขนข้าวเปลือกมะลิเก่า 700,000 กิโลกรัม และข้าวเปลือกมะลิใหม่ 200,000 กิโลกรัม รวม 900,000 กิโลกรัม ราคา 7,460,000 บาท ข้าวสารมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ 7,500 กระสอบ ราคา 13,650,000 บาท และข้าวสารหักมะลิ 700 กระสอบ ราคา 504,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 21,614,000 บาท ซึ่งจำเลยจำนำไว้กับผู้เสียหายไปจำหน่ายเสียทั้งหมดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย จำเลยกระทำไปเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้รับจำนำสินค้าดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการรบกวนการครอบครองโกดังสินค้าอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 349, 362, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349, 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2540 และวันที่ 3 กันยายน 2540 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วม 5,000,000 บาท และ 10,000,000 บาท ตามลำดับ โดยจำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 15,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทำสัญญาจำนำข้าวเปลือกและข้าวสารราคา 21,614,000 บาท ไว้กับโจทก์ร่วมเป็นประกันหนี้ดังกล่าวพร้อมกับให้โจทก์ร่วมเช่าโกดังซึ่งเป็นที่เก็บรักษาข้าว ตามสัญญาจำนำใบรายการสินค้า ใบรับสินค้าและสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 และ จ.ร.1 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดข้อหาโกงเจ้าหนี้นั้น พยานโจทก์มีนายอำนาจ วัชรอำไพวัณย์ เบิกความว่า โจทก์ร่วมมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ดูแลข้าวที่จำนำไว้กับโจทก์ร่วมซึ่งในระยะแรกจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจเปิดปิดโกดังส่วนการนำข้าวสารออกไปจากโกดังนั้น แม้ว่าตามสัญญาจำนำเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 จะระบุว่าต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ร่วมก่อนแต่นายอำนาจ นายมานิต ผดาเวช และนายศักดิ์ชาย วิเศษแก้ว พนักงานโจทก์ร่วมสาขายโสธรเบิกความทำนองเดียวกันว่า ทางปฏิบัติจำเลยสามารถนำข้าวสารดังกล่าวออกไปขายได้โดยไม่ต้องแจ้งโจทก์ร่วมทราบแล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมได้ โจทก์ร่วมจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้าวสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พิเคราะห์จากพฤติการณ์ของการติดต่อระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยแล้ว น่าเชื่อว่า ในการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยนั้น หลังจากทำสัญญาจำนำข้าวแล้ว โจทก์ร่วมยอมให้ข้าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดข้อหาโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 และสำหรับความผิดข้อหาบุกรุกนั้น ได้ความว่าทรัพย์สินที่เช่าได้แก่โกดังเก็บข้าวซึ่งเป็นโกดังที่จำเลยใช้ประกอบกิจการโรงสีของจำเลย เมื่อทำสัญญาเช่าโกดังแล้วจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจโกดังเพียงฝ่ายเดียว โจทก์ร่วมไม่ได้ถือกุญแจ จำเลยเป็นผู้ครอบครองโกดังอยู่เช่นเดิม สัญญาเช่าที่ทำไว้มีค่าเช่าเพียงปีละ 100 บาท รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเช่าโรงเก็บสินค้าเอกสารหมาย จ.3 นับว่าค่าเช่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับราคาโกดัง จึงเชื่อว่าเป็นการทำสัญญาเช่าเป็นแบบพิธีเท่านั้น คู่สัญญาไม่ได้มีเจตนาให้เป็นการเช่าตามกฎหมายอย่างแท้จริง กรณีถือว่าจำเลยยังเป็นผู้ครอบครองโกดังที่เช่าอยู่ตลอดเวลา จำเลยจึงไม่อาจรบกวนการครอบครองของตนเองได้ ไม่อาจเป็นความผิดข้อหาบุกรุกได้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share