คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ร้องทั้งสอง แม้จะเนื่องมาจากเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง การคุมขังในขั้นตอนของการฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลก็ได้สิ้นสุดไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาไม่สามารถที่จะสั่งตามคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ร้องที่ 1 ตามหมายปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนของศาลชั้นต้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 90
สิทธิในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังอยู่ถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่านั้น เมื่อผู้ร้องที่ 1 ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ปัญหาการควบคุมตัวหรือขังผู้ร้องที่ 1 ไว้ในสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงไม่มีความจำเป็นที่จะได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาอีกต่อไป ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2546 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ร้องทั้งสองโดยพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสองไว้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2546 เวลา 20.00 นาฬิกา ในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ปลอมใช้เอกสารสิทธิ (หนังสือเดินทาง) ปลอมและเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ก่อนทำการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้ขอหมายศาลเข้าทำการตรวจค้นห้องพักเลขที่ 212, 208 ไดมอนบูลส์ อพาร์ตเม้นต์ ที่ได้รับรายงานว่า มีบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการปลอมหนังสือเดินทาง ผลการตรวจค้นพบหนังสือเดินทางประเทศอุรุกวัย จำนวน 2 ฉบับ ตราประทับ (รูปรอยตราประจำประเทศรัสเซีย) จำนวน 2 อัน เป็นของกลาง การควบคุมตัวจะครบกำหนดจึงขอฝากขังผู้ร้องทั้งสองไว้ในระหว่างสอบสวนต่อไปตามคดีหมายเลขดำที่ พ.1406/2546 ของศาลชั้นต้น
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 11 ธันวาคม 2546 ว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ได้กล่าวหาผู้ร้องทั้งสองว่า เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต ปลอมและใช้เอกสารปลอม ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยผู้ร้องทั้งสองชั่วคราวระหว่างสอบสวน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 แต่พนักงานสอบสวนไม่ยินยอมปล่อยผู้ร้องทั้งสองตามคำสั่งศาล และส่งตัวผู้ร้องทั้งสองให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตลอดมาแล้วแม้หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546 (ที่ถูกวันที่ 17 ธันวาคม 2546) ทั้งๆ ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อแล้ว การควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสองไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ขอให้มีคำสั่งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปล่อยตัวผู้ร้องทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกักตัวผู้ร้องทั้งสองเพื่อรอการส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสาม ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวคนต่างด้าวไว้ ณ สถานที่ใดเป็นเวลานานเท่าใดตามความจำเป็น และการกักขังดังกล่าวก็มิใช่การคุมขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12) จึงถือไม่ได้ว่าการกักตัวผู้ร้องทั้งสองเป็นการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ร้องทั้งสองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 240 หรือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2546 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ร้องทั้งสองโดยระบุในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ว่า ได้ควบคุมตัวผู้ร้องทั้งสองไว้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2546 เวลา 20.00 นาฬิกา ในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ปลอมและใช้เอกสารสิทธิ (หนังสือเดินทาง) ปลอมและเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ การควบคุมจะครบกำหนด 48 ชั่วโมง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2546 จึงขอฝากขังผู้ร้องทั้งสองไว้ในระหว่างสอบสวนต่อไป ตามคดีหมายเลขดำที่ พ.1406/2546 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยผู้ร้องทั้งสองชั่วคราวระหว่างสอบสวน โดยมีหมายปล่อยลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 ถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครให้ปล่อยตัวผู้ร้องทั้งสอง แต่ผู้ร้องทั้งสองถูกส่งต่อไปที่สถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และถูกกักตัวไว้ ณ สถานที่ดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ว่า มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปล่อยตัวผู้ร้องที่ 1 หรือไม่ สำหรับกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 อนุญาตให้ปล่อยผู้ร้องทั้งสองชั่วคราวในระหว่างสอบสวนนั้น ปรากฏตามคำร้องลงวันที่ 21 มกราคม 2547 ของผู้ร้องที่ 1 และตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ว่า พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อแล้ว เพราะเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ผู้ร้องทั้งสองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้งโดยทันทีและในครั้งที่สองนี้ผู้ร้องที่ 1 ออกไปได้โดยอิสระโดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อหรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่กล้าจับตัวผู้ร้องที่ 1 อีกเป็นครั้งที่สองทั้งที่เรื่องการปล่อยชั่วคราวทั้งสองครั้งเป็นคดีหนังสือเดินทางปลอมเหมือนกัน เห็นว่า เมื่อการขอฝากขังของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อต่อศาลชั้นต้นได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ร้องทั้งสองแม้จะเนื่องมาจากเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง การคุมขังในขั้นตอนของการฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อได้สิ้นสุดไปแล้วจึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาไม่สามารถที่จะสั่งตามคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ร้องที่ 1 ตามหมายปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ที่ผู้ร้องที่ 1 อ้างได้ ส่วนการกักตัวผู้ร้องที่ 1 ไว้ที่สถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1 เองว่า ผู้ร้องที่ 1 ได้รับการปล่อยตัวแล้ว สิทธิในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังอยู่ถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผู้ร้องที่ 1 ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ปัญหาการควบคุมตัวหรือขังผู้ร้องที่ 1 ไว้ในสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไป เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วที่ผู้ร้องที่ 1 ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาโดยเปิดเผยตามคำร้องลงวันที่ 10 ตุลาคม 2549 และปัญหาอื่นตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา.

Share