คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3388/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ต้องมาศาลในวันนัดสืบพยาน โจทก์ต้องมาตรงตามเวลานัดด้วยมิใช่ว่าโจทก์จะมาศาลในเวลาใดก็ได้ก่อนสิ้นเวลาทำการของศาล เมื่อศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาในวันนัดสืบพยานโจทก์เวลา 10.30 นาฬิกา เกินเวลานัดไปถึง 1 ชั่วโมง 30 นาทีฝ่ายโจทก์ก็ยังไม่มา โดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องจึงต้องถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความอันเป็นคำสั่งตามบทบัญญัติมาตรา 132(2) ประกอบมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) จึงชอบแล้ว หลังจากนั้นโจทก์มาศาลและยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นนำคดีขึ้นมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปย่อมมีผลเท่ากับการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดแก่โจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์ ถึงวันนัดทนายจำเลยมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่า ทนายจำเลยป่วยศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1 มิถุนายน 2542 เวลา 9 นาฬิกาครั้งถึงวันนัด ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาเวลา 10.30 นาฬิกา ฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี ส่วนทนายจำเลยมาศาลและแถลงว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์ยื่นคำร้องในวันเดียวกันนั้น อ้างว่าจดเวลานัดผิดไป โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะไม่มาศาลตามนัด ขอให้นัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้อง แต่เมื่อถึงวันนัดศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 ที่ห้ามมิให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ งดไต่สวนคำร้องและยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มาศาลในวันนัดสืบพยานแล้ว เพียงแต่ไม่ตรงตามกำหนดเวลานัดเท่านั้น และยังอยู่ในเวลาทำการของศาล คำร้องของโจทก์ที่ยื่นในวันเดียวกันจึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น เห็นว่า การที่โจทก์จะต้องมาศาลในวันนัดสืบพยานย่อมมีความหมายว่า โจทก์ต้องมาตรงตามเวลานัดด้วย มิใช่ว่าโจทก์จะมาศาลในเวลาใดก็ได้ก่อนสิ้นเวลาทำการของศาล ในวันนั้นดังที่โจทก์อ้างในฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาในวันนัดสืบพยานโจทก์เวลา 10.30 นาฬิกา เกินเวลานัดไปถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที ฝ่ายโจทก์ก็ยังไม่มาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้อง จึงต้องถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 197 วรรคสอง (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความอันเป็นคำสั่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132(2)ประกอบมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) จึงชอบแล้ว หลังจากนั้นเมื่อโจทก์มาศาลและยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นนำคดีขึ้นมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปย่อมมีผลเท่ากับการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) นั่นเอง เมื่อคำร้องของโจทก์ต้องห้ามไว้ชัดแจ้งตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ศาลย่อมไม่อาจดำเนินการตามความประสงค์ของโจทก์ได้ โจทก์จะอ้างความยุติธรรมเพื่อประโยชน์ของโจทก์ฝ่ายเดียว โดยปราศจากกฎหมายสนับสนุนหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกาเป็นกรณีที่มีการสืบพยานของคู่ความไปบ้างแล้ว มิใช่เรื่องที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้มิได้ คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share