คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11414/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลอันมีฐานะเป็นนิติบุคคล และตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 48 เตรส กำหนดให้นายกเทศมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกเทศมนตรีเป็นผู้แทนของเทศบาลจำเลยที่ 1 ความประสงค์ของเทศบาลจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงออกโดยผ่านจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อเทศบาลจำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยเกิดจากการแสดงออกของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าการกระทำอันเป็นความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วยและไม่อาจปัดความผิดไปให้ผู้อื่นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117, 118 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และปรับจำเลยทั้งสองโดยคำนวณตามพื้นที่ของสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลงในคลองระแหง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง, 118 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับคนละ 113,400 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 75,600 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีสมาชิกสภาเทศบาลประกอบเป็นเทศบาลและมีฐานะเป็นนิติบุคคล การลงมติเพื่อกระทำการใดได้กระทำโดยสมาชิกสภาเทศบาล จำเลยที่ 2 ลงนามตามมติของสมาชิกสภาเทศบาล หากการกระทำดังกล่าว ขัดต่อกฎหมายก็เป็นเรื่องของมติของสมาชิกสภาเทศบาลและตัวสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมลงมติเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมาย หาใช่จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนนิติบุคคลไม่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลอันมีฐานะเป็นนิติบุคคล และตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 48 เตรส กำหนดให้นายกเทศมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกเทศมนตรีเป็นผู้แทนของเทศบาลจำเลยที่ 1 ความประสงค์ของเทศบาลจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงออกโดยผ่านจำเลยที่ 2 ดังนั้น เมื่อเทศบาลจำเลยที่ 1 กระทำผิดโดยเกิดจากการแสดงออกของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าการกระทำอันเป็นความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วย และไม่อาจปัดความผิดไปให้ผู้อื่นได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่วนสมาชิกสภาเทศบาลที่เข้าร่วมประชุมและมีมติให้กระทำการอันเป็นความผิดจะมีความผิดดังที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นหรือไม่นั้น เมื่อสมาชิกสภาเทศบาลดังกล่าวมิได้ถูกดำเนินคดีในคดีนี้ด้วย ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปพิจารณาว่ากล่าวแยกต่างหากจากคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องด้วยนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share