แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบในคดีอาญาคดีอื่นที่ อ. ถูกฟ้องเป็นจำเลยไปแล้วก็ตาม แต่คดีดังกล่าว อ. ถูกฟ้องว่าเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลย และศาลชั้นต้นเคยสั่งให้รวมการพิจารณากับคดีนี้มาก่อน จึงเป็นคดีที่มีความเกี่ยวพันกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับ อ. จึงถือไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ ต้องคืนแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นกระสุนปืนซึ่งถูกใช้หมดไปในการทดลองยิง และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3228/2559 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 9 ปี และปรับ 650,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3228/2559 ของศาลชั้นต้น ให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยกับนายอนิรุต เป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองสนธิกำลังกันเข้าตรวจค้นบ้านพักของจำเลยและนายอนิรุต เลขที่ 241 หมู่ที่ 9 ขณะทำการตรวจค้นนายอนิรุตวิ่งหลบหนีไปทางด้านหลังบ้าน เจ้าพนักงานยึดอาวุธปืนพกขนาด .32 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืน 2 นัด ถุงพลาสติกใสแบบมีลิ้นเปิดปิด พร้อมช้อนสำหรับตวงเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 1 ชุด โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ได้ภายในบ้าน และยึดเมทแอมเฟตามีน 110 เม็ด กับเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดสีขาว 6 ถุง พร้อมกระเป๋าหนังสีดำที่ใช้บรรจุเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 1 ใบ ได้จากริมรั้วข้างบ้าน เป็นของกลาง จึงนำตัวจำเลยพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน และต่อมาจำเลยถูกแจ้งข้อหาเป็นคดีนี้ สำหรับนายอนิรุตถูกพนักงานสอบสวนขออนุมัติออกหมายจับไว้ ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2560 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายอนิรุตได้ และถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1398/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้สั่งรวมการพิจารณาเข้ากับคดีนี้ แต่ภายหลังจากนายอนิรุตให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษนายอนิรุตและริบของกลางไปแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1994/2560 สำหรับคดีในส่วนของจำเลยศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องความผิดข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์ไม่ฎีกา ความผิดข้อหาดังกล่าวเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยร่วมกับนายอนิรุตกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อพิรุธน่าสงสัยไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า ในปัญหาดังกล่าว โจทก์มีพันตำรวจตรีทวี เป็นพยานเบิกความสรุปได้ว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนทราบว่า จำเลยกับนายอนิรุตมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่บ้านที่เกิดเหตุ แต่ไม่สามารถล่อซื้อเพื่อจับกุมได้ เนื่องจากจำเลยกับนายอนิรุตจะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่บุคคลที่รู้จักและสนิทกันเท่านั้น เช้าวันเกิดเหตุพยานกับพวกจึงสนธิกำลังกันเข้าตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุ แต่ขณะเข้าตรวจค้น นายอนิรุตวิ่งหลบหนีออกไปทางด้านหลังบ้านซึ่งเป็นป่า ไม่สามารถไล่ติดตามได้ทัน ส่วนจำเลยเดินออกมาด้านข้างบ้านแล้วหย่อนกระเป๋าหนังสีดำไปทางด้านนอกรั้วบ้าน พยานกับพวกจึงตรวจดู พบว่าในกระเป๋าดังกล่าวมีเมทแอมเฟตามีนของกลางบรรจุอยู่ จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และโจทก์มีร้อยตำรวจเอกสมยศ ผู้ร่วมจับกุมเป็นพยานเบิกความอีกปากหนึ่งว่า ขณะเกิดเหตุพยานตรวจค้นทางด้านหน้าบ้านโดยมารดาของนายอนิรุตเป็นผู้นำตรวจค้น ระหว่างนั้นได้ยินเสียงร้องเอะอะมาจากด้านหลังบ้านคล้ายคนวิ่งไล่ตามกัน หลังจากนั้นเห็นพันตำรวจตรีทวี ควบคุมตัวจำเลยเข้ามาพร้อมกระเป๋าสีดำ ทราบภายหลังว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางบรรจุอยู่ จึงร่วมกันจับกุมจำเลยเป็นคดีนี้ จากคำเบิกความดังกล่าวแสดงว่าร้อยตำรวจเอกสมยศไม่เห็นเหตุการณ์ขณะมีการยึดเมทแอมเฟตามีนโดยตรง ดังนั้น พยานโจทก์ที่อ้างว่าเห็นจำเลยเป็นผู้หย่อนกระเป๋าที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางลงที่นอกรั้วบ้าน จึงมีเฉพาะพันตำรวจตรีทวีเพียงปากเดียว แต่เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพันตำรวจตรีทวีแล้ว ไม่ปรากฏรายละเอียดชัดเจนว่าจำเลยเดินมาจากทิศทางใด และหย่อนกระเป๋าดังกล่าวลงที่จุดใด ทั้งไม่มีการถ่ายรูปประกอบการตรวจยึดกระเป๋าของกลางไว้ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ หลังเกิดเหตุก็ไม่ได้นำพนักงานสอบสวนไปชี้เส้นทางการเดินของจำเลย รวมทั้งชี้จุดที่พบกระเป๋าของกลางเพื่อให้เห็นสมจริง ทั้งที่เป็นข้อสาระสำคัญของเหตุการณ์ ยิ่งไปกว่านั้น วันเกิดเหตุมีเจ้าพนักงานหลายคนร่วมตรวจค้นจับกุม แต่ปรากฏว่ามีพันตำรวจตรีทวีเพียงคนเดียวที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยหย่อนกระเป๋าบรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางทิ้ง นับว่ามีเหตุให้น่าสงสัยอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะตรวจค้นนายอนิรุตคือคนที่วิ่งหลบหนีออกไปทางด้านหลังบ้าน ส่วนจำเลยมิได้หลบหนีแต่อย่างใด โดยถูกจับกุมในบ้านที่เกิดเหตุนั้นเอง จึงเป็นการขัดต่อเหตุผลที่จำเลยจะถือกระเป๋าเดินออกไปด้านข้างบ้านแล้วหย่อนทิ้งลงนอกรั้วต่อหน้าเจ้าพนักงานเช่นนี้ เพราะผิดวิสัยของคนร้ายอย่างยิ่ง ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า หลังเกิดเหตุ 4 เดือนเศษ ขณะเจ้าพนักงานติดตามไปจับกุมนายอนิรุตได้ที่โรงแรมพิงดาวรีสอร์ท นายอนิรุตก็โยนกระเป๋าสีน้ำตาลที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งทิ้งบนพื้นหน้าห้องพัก แล้ววิ่งหลบหนีการจับกุม แต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจไล่ติดตามจับกุมไว้ได้ ความข้อนี้ส่อให้เห็นพฤติการณ์ของนายอนิรุตว่า เก็บยาเสพติดไว้ในกระเป๋าสะพาย เมื่อถูกเจ้าพนักงานเข้าจับกุมก็โยนกระเป๋าทิ้งเพื่อหลบหนี อีกทั้งเมื่อนายอนิรุตถูกฟ้องเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางคดีนี้ ก็ให้การรับสารภาพจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษไปแล้ว ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของนายอนิรุตที่โยนทิ้งไว้ข้างบ้านก่อนวิ่งหลบหนีไป แม้โจทก์นำสืบว่าในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพ แต่คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 นอกจากนี้ในชั้นสอบสวน จำเลยถูกสอบปากคำในวันเกิดเหตุนั้นเอง และให้การปฏิเสธทันที ซึ่งในชั้นพิจารณาจำเลยก็นำสืบปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลาง โดยมีนายอนิรุตมาเบิกความสนับสนุนว่า เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของตนเพียงผู้เดียว ขณะเกิดเหตุเมื่อทราบว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้าน นายอนิรุตตกใจจึงคว้ากระเป๋าสะพายที่บรรจุเมทแอมเฟตามีนของกลางวิ่งหลบหนีออกทางด้านหลังบ้านและโยนกระเป๋าดังกล่าวออกไปนอกบ้านเพื่อให้พ้นตัว ข้อเท็จจริงจึงอาจเป็นดังที่จำเลยนำสืบต่อสู้ก็ได้ จากเหตุผลดังที่วินิจฉัยมาพยานหลักฐานของโจทก์จึงยังมีความสงสัยอยู่ตามสมควรว่า จำเลยร่วมกับนายอนิรุตมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เจ้าพนักงานยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อ OPPO สีขาว หมายเลข 08 9003 xxxx ของจำเลยเป็นของกลางด้วย แม้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1994/2560 ที่นายอนิรุตถูกฟ้องเป็นจำเลยไปแล้วก็ตาม แต่คดีดังกล่าวนายอนิรุตถูกฟ้องว่าเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลย และศาลชั้นต้นเคยสั่งให้รวมการพิจารณากับคดีนี้มาก่อน จึงเป็นคดีที่มีความเกี่ยวพันกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับนายอนิรุต จึงถือไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ ต้องคืนแก่เจ้าของตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9) และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเสียด้วย และคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ OPPO สีขาว หมายเลข 08 9003 xxxx ของกลาง แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์