คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องแบ่งมรดกจากจำเลยหลายคน โจทก์กับจำเลยคนหนึ่งตกลงแบ่งมรดกกัน โดยให้จำเลยคนนั้นได้ทรัพย์ส่วนที่ครอบครองอยู่เกินกว่าส่วนที่ควรได้ตามกฎหมายในฐานทายาทโดยธรรมข้อตกลงนั้นผูกพันโจทก์กับจำเลยผู้นั้นศาลพิพากษาให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น โดยให้มีผลบังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้นั้นเท่านั้น

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ โจทก์ต่างฟ้องขอแบ่งมรดกรายเดียวกัน โดยจำเลยชุดเดียวกัน ศาลพิจารณาพิพากษารวมกันมา โจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องใจความอย่างเดียวกันว่า โจทก์และจำเลยเป็นภรรยาและบุตรพระอรรถวสิษฐสุธี ตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้องหมายเลข 1 พระอรรถวสิษฐสุธีถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2496 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ มีที่ดินเป็นมรดกอยู่ 3 แปลง ตามโฉนดที่ 1446 เนื้อที่ 1 งาน 4 ครึ่ง ตารางวา โฉนดที่ 1519 เนื้อที่ 1 งานครึ่งตารางวา และโฉนดที่ 1271 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 25 วา รวมเนื้อที่ 720 ตารางวา คิดเป็นเงินตารางวาละ 600 บาท รวมเป็นเงิน 438,450 บาท เป็นที่ดินอยู่ในอำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 2 ขณะนี้มีทายาทที่มีสิทธิจะได้รับมรดกอยู่ 26 คน คือโจทก์ทั้งสองคดี 10 คน จำเลยสองคดี 9 คน กับนายอารีอิศรภักดี นายสุนทร อิศรภักดี นายร้อยตำรวจเอกเพชร อิศรภักดีนางเชื้อ อิศรภักดี เด็กหญิงชวนชื่น อิศรภักดี นายสุรี อิศรภักดีนางสอาด อิศรภักดี โจทก์มีสิทธิได้ส่วนแบ่งมรดกคนละ 28 11/104 ตารางวา คิดเป็นเงินคนละ 16,863.46 บาทจำเลยทั้ง 9 เป็นผู้ครอบครองมรดกที่ดินรายนี้ โจทก์ได้ขอส่วนแบ่งมรดก แต่จำเลยไม่ยอมจึงขอให้จำเลยแบ่งที่ดินมรดกให้โจทก์ตามส่วนที่กล่าว หรือขายทอดตลาดเฉลี่ยเงินให้โจทก์ตามส่วน

โจทก์ทั้งสองคดียื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2497

หลังจากยื่นฟ้องแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2497 โจทก์ทั้งสองคดีได้ยื่นคำร้องว่า นายวัฒนา อิศรภักดี จำเลยที่ 4 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการครอบครองที่ดินมรดกพิพาท จึงขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 4 ศาลได้สั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 4 ได้

วันที่ 9 มีนาคม 2497 นายวัฒนา อิศรภักดี ยื่นคำร้องว่าเป็นบุตรผู้หนึ่งของเจ้ามรดก จึงขอให้กันส่วนมรดกให้แก่นายวัฒนาอิศรภักดี ด้วย

วันที่ 10 มีนาคม 2497 นางสาวสอิ้ง อิศรภักดี โจทก์ที่ 5 ในคดีแรกยื่นคำร้องว่า ไม่ประสงค์จะกล่าวต่อไป จึงขอถอนฟ้องโดยเฉพาะ (ตัว) ศาลสั่งอนุญาต แต่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2498 นางสาวสอิ้ง กลับยื่นคำร้องขอให้กันส่วนมรดกไว้ให้ด้วย

วันที่ 8 มิถุนายน 2497 นางสมาน โกศลเวชชศาสตร์ โจทก์ที่ 5 (ในคดีหลัง) ยื่นคำร้องว่า ไม่มีความประสงค์จะดำเนินคดีจึงขอถอนฟ้อง ศาลสั่งอนุญาต

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีแรกยื่นคำร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาศาลไต่สวนแล้วอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

จำเลยส่วนมากให้การต้องกันว่า มิใช่เป็นผู้จัดการมรดก ไม่ได้ร่วมกันปกครองที่ดินทั้งสามแปลง ต่างคนต่างปกครอง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม บัญชีเครือญาติท้ายฟ้องคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง บางคนไม่ใช่ทายาท บางคนวายชนม์แล้ว บางคนซึ่งอ้างว่าเป็นภรรยาพระอรรถวสิษฐสุธีได้ขาดการสมรสแล้ว บางคนว่าได้ครอบครองที่ดินส่วนของตนมา ไม่ได้ครอบครองที่ดินส่วนอื่น

โดยเฉพาะนางกวี จรรยาวิโรจน์ (นางกฤษณา อิศรภักดี) จำเลยที่ 8 ให้การว่า เป็นบุตรพระอรรถวสิษฐสุธี เกิดจากนางทรัพย์ อรรถวสิษฐสุธี มารดาซึ่งเป็นเอกภรรยาหรือภรรยาหลวงก่อนพระอรรถวสิษฐสุธีถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2475 เมื่อจำเลยตกลงจะทำการสมรสกับหลวงกวีจรรยาวิโรจน์พระอรรถวสิษฐสุธีได้พูดยกที่ดินโฉนดที่ 1271 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 25 วา ให้จำเลยครึ่งหนึ่งเพื่อปลูกเรือนหออยู่กินกับสามี จำเลยกับสามีได้ปลูกเรือนลงในที่ที่ยกให้ แล้วจำเลยกับสามีได้ใช้สิทธิครอบครองมา โดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 10 ปี และว่านอกจากที่ดินอันเป็นส่วนของจำเลยที่บิดายกให้แล้วจำเลยไม่ขอเกี่ยวข้องด้วยอีก สุดแล้วแต่โจทก์จำเลย (อื่น) จะแบ่งกันประการใด และว่าหากจะมีการแบ่งมรดก ขอให้แบ่งเงินมรดกไว้เพื่อทำการฌาปนกิจศพตามสมควรแก่ฐานะด้วย

ปรากฏตามรายงานพิจารณาของศาล ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2497ว่า โจทก์กับนายพิพัฒน์ นางสุจิตรา นางชัวชม จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 9 ตามลำดับ ต่างแถลงว่า ตกลงปรองดองกันได้แล้ว โดยจำเลยสามคนนี้จะยอมคิดเนื้อที่ส่วนได้ของตนคนละ 36 ตารางวา ในที่ดินรายพิพาท โดยจำเลยสามคนนี้เห็นว่า ทายาทจะมีสิทธิได้รับมรดกรายนี้ขณะนี้มี 20 คน แบ่งคนละส่วนก็ได้เนื้อที่ดินคนละ 36 ตารางวา จำเลยขอรับเอาที่ดินเท่าส่วนที่ครอบครอง รวมทั้งที่เกิน โดยจะคิดเงินส่วนที่เกินสิทธิของตนให้แก่กองมรดก ตามส่วนแห่งราคาที่ฟ้องเรียกโจทก์และจำเลยทั้งสามคนนี้ไม่ติดใจโต้เถียงกันต่อไปถ้าหากบังเอิญจะมีทายาทมีส่วนได้ร้องขอเพิ่มขึ้นมาอีก โดยมีสิทธิโดยชอบ ทำให้ส่วนได้ของทายาทแต่ละคนได้ไม่ถึง 36 ตารางวาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 9 ก็ยอมลดส่วนของตนลงตามส่วนเท่าที่มีสิทธิควรได้ และส่วนที่ครอบครองเกินสิทธิตามส่วนก็ยินดีชดใช้ราคาที่ดินให้แก่กองมรดก และถ้าหากจำเลยคนอื่น หรือทายาทซึ่งเป็นคนนอกคดีไม่ตกลงในการแบ่งเนื้อที่ดินกันจะต้องเอาที่ดินขายทอดตลาด จำเลยสามคนนี้ก็ยอมให้ขายทอดตลาดที่ดินส่วนที่ตนครอบครอง

วันที่ 10 มกราคม 2498 นางสาวรองรัตน์ โจทก์ที่ 2 ในคดีหลังยื่นคำร้องว่า นางเจริญ อิศรภักดี โจทก์ที่ 1 ในคดีหลังได้วายชนม์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2497 ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมขอรับเป็นผู้รับมรดกความ ศาลสั่งอนุญาต

ตามบันทึกรายงานพิจารณาลงวันที่ 18 มีนาคม 2498 ว่าฝ่ายโจทก์ (ทั้งสองคดี) กับนางกฤษณา นางสมรศรี จำเลยที่มาศาลต่างแถลงว่า ได้ตกลงปรองดองกันแล้ว และเข้าใจว่าจำเลยอื่นก็จะตกลงด้วย ตามที่เคยพูดกันครั้งก่อน ๆ ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยที่มาศาลวันนี้ปรองดองกันได้ ดังนี้

(1) นางกฤษณา จำเลยที่ 8 มีส่วนได้ในที่ดินมรดกที่พิพาทกันนั้น ตามเนื้อที่ตามที่ครอบครองอยู่เป็นเนื้อที่ดิน 118 ตารางวา

(2) นางสมรศรี จำเลยที่ 6 มีส่วนได้ในที่ดินมรดกเป็นเนื้อที่ 38 ตารางวา

(3) โจทก์ที่ยังเป็นคู่ความอยู่ มีส่วนได้ในที่ดินมรดกคนละ 38 ตารางวา

(4) จำเลยอื่น ๆ ทุก ๆ คน ทั้งสองสำนวน มีส่วนได้ในที่ดินมรดกคนละ38 ตารางวา

(5) หากยังมีทายาทผู้อื่นจะมีสิทธิเรียกร้องเอามรดกรายนี้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย มาเรียกร้องและจะต้องแบ่งให้ไปอีก โจทก์จำเลยที่มาตกลงวันนี้ก็ยินยอมแบ่งเฉลี่ยให้ไปตามส่วนมากน้อยของที่ตนได้รับ

(6) ปรากฏว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 1539 อันเป็นมรดกยังติดจำนองหม่อมเจ้าอำไพพันธ์อยู่ โจทก์จำเลยที่มาศาลวันนี้ยินยอมให้เอาทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตีราคาหักใช้หนี้จำนองรายนั้นเสียก่อน

(7) การแบ่งส่วนได้ในที่ดินมรดกดังกล่าวแล้วนั้น ถ้าคู่ความไม่ตกลงในการแบ่งกันได้ก็ให้ประมูลราคาระหว่างกันเองก่อนถ้ายังไม่ตกลงกันอีกก็ให้ขายทอดตลาดเอาเงินสุทธิมาแบ่งกันตามส่วนที่ตนจะได้รับเว้นไว้แต่ที่ดินส่วนได้ของนางกฤษณา จำเลยที่ 8 เนื้อที่ 118 ตารางวา ที่ครอบครองอยู่เองนั้น คู่ความที่มาศาลวันนี้ยินยอมว่า ไม่ต้องนำเอามาประมูลราคาหรือขายทอดตลาดยอมให้จำเลยผู้นี้ได้กรรมสิทธิ์ไป แต่ว่าที่จะต้องใช้หนี้ของกองมรดกรายจำนองเงินใช้หนี้เท่าใด ผู้รับมรดกทุกคนยอมออกเงินไถ่จำนองตามส่วนที่ตนได้รับทรัพย์มรดก เช่น นางกฤษณา จำเลยได้ 118 ตารางวา เป็น 118 ส่วนคนอื่นได้คนละ 38 ตารางวา ก็เป็น 38 ส่วน

(8) ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายขอให้ศาลหักจากกองมรดกก่อนแบ่งเงินกัน โดยนางกฤษณา จำเลยยอมเฉลี่ยเสียให้ตามส่วนของที่ดินที่จะได้รับ118 ตารางวา นั้น

คู่ความที่มาศาลขอให้นัดจำเลยอื่นมาทำยอมต่อไป ศาลเห็นว่าคู่ความตกลงปรองดองกันได้หลายคนแล้ว สมควรเลื่อนการพิจารณาไปและนัดสอบถามคู่ความเพื่อจะมีทางตกลงปรองดองกันได้อีกครั้ง

ตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2498 ว่า ฝ่ายโจทก์มาศาล นางกฤษณา นายพิพัฒน์ จำเลย มาศาล จำเลยนอกจากนั้นไม่มานายพิพัฒน์ จำเลยแถลงว่า ขอถือตามข้อแถลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2497ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับนั้น คือการแบ่ง ถ้าไม่ตกลงก็ควรเอาประมูลหรือขายทอดตลาดทั้งหมด ไม่ควรยกเว้นที่ใด อนึ่งคู่ความที่มาได้กำหนดเงินทำศพเจ้ามรดกไว้หนึ่งหมื่นบาท โดยขอให้หักจากเงินยอดสุทธิของกองมรดก ทนายนางกฤษณา จำเลยแถลงว่าเท่าที่ตกลงกันครั้งก่อน ๆ นั้น ก็เป็นที่พอใจแล้ว ไม่ติดใจสืบพยานนายพิพัฒน์จำเลยแถลงว่า ไม่ได้ยื่นบัญชีพยาน เพราะไม่ติดใจสืบพยาน ฝ่ายโจทก์แถลงว่า จำเลยอื่นนอกจากนางกฤษณา จำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีพยานกันเลยเมื่อจำเลยอื่นไม่มีสิทธิที่จะสืบพยานและนางกฤษณาไม่ติดใจสืบพยานเช่นนี้ ฝ่ายโจทก์ก็ไม่ติดใจสืบพยานเช่นกัน ศาลสั่งว่า เป็นเสร็จการพิจารณา ให้นัดฟังคำพิพากษา

วันที่ 20 เมษายน 2498 นายอารี อิศรภักดี ยื่นคำร้องว่า เป็นบุตรพระอรรถวสิษฐสุธี และขณะนี้เป็นผู้ครอบครองที่ดินตามโฉนดที่ 1446จึงขอเข้าเป็นจำเลยร่วมด้วย

ตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2498 ศาลมีคำสั่งว่า ตามคำร้องของนายอารี อิศรภักดี ผู้ร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมทนายนางกฤษณา จำเลยไม่แถลงค้าน จำเลยอื่นไม่มาคัดค้าน คงค้านแต่ฝ่ายโจทก์เท่านั้น ศาลเห็นว่า แม้โจทก์จะคัดค้าน แต่โจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องแล้วว่า นายอารี ผู้ร้องสอดเป็นทายาทด้วยผู้หนึ่งจึงสั่งอนุญาตให้นายอารี อิศรภักดี ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมได้

วันที่ 10 พฤษภาคม 2498 นายอารี อิศรภักดี ยื่นคำให้การว่าไม่ค้านในการที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกที่ดินคนละ 28 ตารางวาเศษ แต่ว่ารายชื่อทายาทตามฟ้องนั้น นางสอาดและนางเชื้อได้ถึงแก่กรรมก่อนเจ้ามรดกตาย จึงไม่มีสิทธิ ในขณะนี้คงมีทายาทผู้มีสิทธิในมรดกรายนี้เพียง 25 คน เท่านั้น

ตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 20 มิถุนายน 2498 ว่า ทนายโจทก์นางสาวสอิ้ง นายพิพัฒน์ นายอารี และทนาย กับตัวนางกฤษณา มาศาลนอกนั้นไม่มา นายอารี จำเลยแถลงว่า ทายาทผู้มีสิทธิในมรดกรายนี้คงเหลือเพียง 24 คน เท่านั้น โดยขอตัดนางศรีสำเริงออก ศาลสอบโจทก์และจำเลยที่มาแล้ว ยอมรับว่าทายาทเหลือเพียง 24 คน โดยนางเชื้อ นางสอาด ถึงแก่กรรมไปก่อนเจ้ามรดก นางสาวสอิ้งแถลงว่าเป็นบุตรนางสอาด นางสอาดได้ถึงแก่กรรมไปก่อนเจ้ามรดกจริงนางกฤษณา จำเลยแถลงว่า นายอารี จำเลยได้ปลูกเรือนอยู่ในที่พิพาทรายนี้ทนายโจทก์แถลงยอมรับตามที่นางกฤษณา จำเลยแถลง

วันที่ 28 มิถุนายน 2498 นางบุญรอด จิตต์บุญ ยื่นคำร้องว่าเป็นมารดานางสาวชวนชื่น อิศรภักดี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ นางสาวชวนชื่นอิศรภักดี เป็นบุตรพระอรรถวสิษฐสุธี เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและได้ครอบครองที่ดินโฉนดที่ 1271 ของผู้ตาย จึงร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และขอให้กันส่วนอันเป็นมรดกให้

วันที่ 28 มิถุนายน 2498 นางบุญเรือน อุ่นวิโรจน์ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เป็นมารดานายสุรี อิศรภักดี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ นายสุรีอิศรภักดี เป็นบุตรพระอรรถวสิษฐสุธี เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดก ได้ครอบครองที่ดินโฉนดที่ 1271 ของผู้ตายมา ขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ขอให้กันส่วนอันเป็นมรดกให้

วันที่ 28 มิถุนายน 2498 นางช้อย อิศรภักดี ยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นมารดานายสุนทร อิศรภักดี นายสุนทร อิศรภักดี เป็นบุตรพระอรรถวสิษฐสุธี ได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินโฉนดที่ 1446, 1519 โดยปลูกเรือนอาศัยอยู่ในที่ดินและครอบครองอยู่จนนายสุนทรอิศรภักดี ถึงแก่กรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายสุนทร อิศรภักดี จึงขอร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ขอให้กันส่วนอันเป็นมรดกให้แก่ผู้ร้อง

วันที่ 30 มิถุนายน 2498 นางศรีสำเริง อิศรภักดี ยื่นคำร้องว่าเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพระอรรถวสิษฐสุธี ขอร้องสอดเข้าร่วมเป็นจำเลยเพื่อได้รับส่วนแบ่งจากกองมรดกด้วย

วันที่ 30 มิถุนายน 2498 ศาลบันทึกรายงานพิจารณาว่านัดฟังคำพิพากษาวันนี้ ทนายโจทก์และตัวโจทก์บางคนมาศาล ฝ่ายจำเลยมีนางกฤษณากับทนายและนายวีระมาศาล นายอารี ผู้ร้องสอดนางบุญรอด นางบุญเรือน นางช้อย กับทนาย นางศรีสำเริง ผู้ร้องมาศาล ศาลสอบถาม ผู้ร้องทั้งสี่แถลงว่า การที่ร้องขึ้นมานั้นประสงค์เพียงขอให้ศาลกันส่วนแบ่งในฐานะที่เป็นทายาทไว้ให้ด้วยเท่านั้น ไม่ได้ประสงค์ขอเข้าเป็นจำเลยด้วย ทนายโจทก์แถลงว่านางบุญรอด นางบุญเรือน และนางช้อย ในฐานะเป็นผู้ปกครองนางสาวชวนชื่น นายสุรี และรับมรดกนายสุนทร นั้น แต่ละคนไม่ได้ครอบครองที่พิพาท ส่วนนางศรีสำเริงนั้น ไม่ได้เป็นทายาทของเจ้ามรดก เพียงแต่อาศัยอยู่ในที่พิพาทเท่านั้น และผู้ร้องทั้งสี่ร้องขอมาเมื่อเกิน 1 ปี หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว ในที่สุดศาลได้สั่งให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาวันที่ 11 กรกฎาคม 2498

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่เถียงกันฟังได้ว่าพระอรรถวสิษฐสุธีถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2496 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ และที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง มีชื่อพระอรรถวสิษฐสุธีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ตามที่จำเลยบางคนต่อสู้ว่า พระอรรถวสิษฐสุธียกที่ดินบางแปลงและบางส่วนให้ขณะมีชีวิตอยู่ และบางคนได้ปลูกเรือนอยู่ครอบครองมาเกิน 10 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์ นั้น จำเลยไม่ได้นำสืบให้ได้ความตามข้อต่อสู้ จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง เป็นมรดกของพระอรรถวสิษฐสุธีโจทก์จะมีอำนาจฟ้อง และฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยส่วนมากต่อสู้ว่า จำเลยไม่ใช่ผู้จัดการมรดก โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกไม่ได้ เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ฟ้องในฐานะที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกไว้แล้วไม่แบ่งให้โจทก์ ซึ่งเป็นทายาท จึงชอบที่โจทก์จะฟ้องได้ และได้ตรวจฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า เป็นฟ้องที่มีข้อความพอจะเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่เคลือบคลุม แต่จำเลยส่วนมากต่อสู้ว่า บัญชีเครือญาติและจำนวนทายาทตามฟ้องโจทก์คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความจริง และจำเลยบางคนปฏิเสธว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในคดีดำที่ 201/2497 (คดีหลัง)ไม่ใช่ภรรยาและบุตรของเจ้ามรดกและตามที่โจทก์กับจำเลยบางคนตกลงแบ่งส่วนมรดกกันนั้นจะฟังได้อย่างมากก็เพียงว่า จำเลยที่ตกลงนั้นได้สละข้อต่อสู้ของตนและยอมรับว่าโจทก์เป็นทายาทเจ้ามรดกด้วยเท่านั้น แต่ข้อตกลงในเรื่องจำนวนทายาทไม่ตรงกับจำนวนทายาทในฟ้อง ไม่มีผลผูกพันจำเลยและทายาทอื่นซึ่งมีส่วนควรได้รับมรดกรายนี้ที่ไม่ได้ตกลงร่วมด้วย และโจทก์ก็ไม่นำสืบให้ได้ความว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่กล่าว เป็นทายาทเจ้ามรดกดังฟ้องตลอดจนจำนวนและลำดับทายาทของเจ้ามรดก ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่าจำนวนทายาทที่ควรจะได้รับส่วนแบ่งมรดกรายนี้มีเท่าใด และทายาทแต่ละคนอยู่ในลำดับใด จึงยังวินิจฉัยแบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ให้โจทก์ไม่ได้ เมื่อยังแบ่งส่วนมรดกให้ไม่ได้ คำร้อง คำแถลง ของผู้กล่าวอ้างว่าเป็นทายาทบางคนที่ขอให้กันส่วนมรดกไว้ให้ก็ตกไปด้วย จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับไป

โจทก์ทั้งสองคดีอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์ไม่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำนวนทายาทมีเท่าใดแน่ และใครอยู่ในลำดับใดบ้าง นั้น เห็นว่าในการฟ้องคดี โจทก์ได้แนบบัญชีเครือญาติเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง แม้จำเลยบางคนจะให้การต่อสู้ว่า บัญชีเครือญาติไม่ถูกต้องก็ต่อสู้ลอย ๆ มิได้กล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ตรงไหนแต่แล้วระหว่างดำเนินคดี จำเลยบางคนก็ยอมทำความตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกับโจทก์ แม้ตอนหลังนายอารีร้องขอเข้ามาในคดี นายอารีก็ให้การว่า โจทก์เป็นทายาทควรได้รับส่วนแบ่ง จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านแสดงว่ารับโดยปริยายแล้วว่าโจทก์เป็นทายาทของเจ้ามรดก และไม่ติดใจโต้เถียงในข้อนี้ต่อไปแล้วในวันชี้สองสถาน คู่ความจึงมิได้ตั้งข้อนี้เป็นประเด็นนำสืบคงกะประเด็นให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อน ว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินมรดกตามข้อต่อสู้หรือไม่ และแล้วจำเลยก็ไม่สืบตามหน้าที่ โจทก์จึงแถลงไม่สืบพยานด้วย อย่างไรก็ตามจำนวนทายาทซึ่งจะรับมรดกนั้นย่อมถือได้จากบัญชีเครือญาติประกอบกับคำแถลงของคู่ความในสำนวนส่วนที่ว่าใครอยู่ในลำดับใด ก็ไม่น่าเกิดปัญหาเนื่องจากไม่มีฝ่ายใดกล่าวอ้างว่า ภรรยาของเจ้ามรดกที่ควรได้รับส่วนแบ่งนั้นใครเป็นภรรยาหลวง ใครเป็นภรรยาน้อย ต้องฟ้องว่าภรรยาทุกคนอยู่ในลำดับเดียวกันทั้งสิ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาต่อไปว่าใครบ้างเป็นทายาท และจะแบ่งทรัพย์กันอย่างไร ปรากฏในสำนวน โจทก์และจำเลยที่มาศาลรับกันว่า นางสอาดและนางเชื้อภรรยาของเจ้ามรดกได้ถึงแก่กรรมไปก่อนเจ้ามรดก ตามที่โจทก์รวมชื่อทายาทผู้ควรได้รับมรดกมาในฟ้อง 26 คน จึงคงเหลือ 24 คน เท่านั้น คือ 1. นางเจริญ 2. นางสอาด 3. นางสังวรณ์ 4. นางช้อย (ภรรยา) 5. นางสาวรองรัตน์ 6. นายสม 7. นายธงชัย 8. นางสมาน 9. นายพิพัฒน์ 10. นางสุจิตรา 11. นายวัฒนา 12. นายอรุณ 13. นางสมรศรี 14. นายวีระ 15. นางกฤษณา 16. นางชัวชม 17. นายศิริ 18. นายอุทัย 19. นางสาวสอิ้ง 20. นายอารี 21. นายสุนทร 22. นายร้อยตำรวจเอกเพ็ชร 23. นางสาวชวนชื่น24. นายสุรี มีนางศรีสำเริงยื่นคำร้องขอส่วนแบ่งอ้างว่าเป็นภรรยาของพระอรรถวสิษฐสุธีเจ้ามรดกแต่โจทก์ได้คัดค้านว่า นางศรีสำเริงมิใช่ภรรยาชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิรับมรดก นางศรีสำเริงมิได้สืบพยานให้เห็นว่า เป็นภรรยาชอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอของนางศรีสำเริงจึงตกไปส่วนบุตรของเจ้ามรดกที่มารดาได้ยื่นคำร้องขอให้กันส่วนแบ่งไว้ให้ คือ นางสาวชวนชื่น นายสุรี และนายสุนทร นั้น โจทก์แถลงคัดค้านว่า ยื่นคำร้องเกิน 1 ปี ภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่กรรมไม่ควรได้ส่วนแบ่งนั้น ความจริงโจทก์ได้บรรยายฟ้องระบุว่าคนทั้งสามนี้กับนางสาวสอิ้งเป็นทายาทอยู่แล้ว คนเหล่านี้จึงควรได้รับส่วนแบ่ง บุตรของเจ้ามรดกตามกฎหมายได้ส่วนแบ่งคนละ 1 ส่วนภรรยาของเจ้ามรดกที่ยังมีชีวิตอยู่หลายคนรวมกันได้ส่วนแบ่ง 1 ส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635, 1636 ในคดีนี้จึงต้องแบ่งมรดกเป็น21 ส่วน บุตร 20 คน 20 ส่วน ภรรยา 4 คนรวมกัน 1 ส่วน แต่นายศิริ นายอุทัยนางสาวรองรัตน์ นายสมนายธงชัย บุตรเจ้ามรดก ผู้เป็นโจทก์ซึ่งยังเหลืออยู่ใน 2 คดีนี้ขอมาในฟ้องให้แบ่งมรดกเป็น 26 ส่วน โจทก์ได้คนละ 1 ส่วนเพื่อไม่ให้เป็นการเกินคำขอ สำหรับโจทก์ 5 คน นี้ ให้แบ่งมรดกออกเป็น 26 ส่วน ให้ได้คนละ 1 ส่วน นางเจริญ นางสวาทและนางสังวรณ์ โจทก์ผู้เป็นภรรยาเจ้ามรดก ฟ้องขอแบ่งมรดกคนละหนึ่งส่วนตามกฎหมาย ภรรยาทั้งหมดที่มีชีวิตอยู่รวมกันได้ 1 ส่วนอย่างบุตร ภรรยาที่ควรมีส่วนได้ในคดีมีนางช้อย จำเลยอีกคนหนึ่งฉะนั้น โจทก์ 3 คนนี้ กับนางช้อยรวม 4 คน ได้มรดก 1 ส่วนเมื่อได้แยกแบ่งมรดกให้โจทก์ผู้เป็นบุตร 5 คน ไปแล้ว ทรัพย์มรดกก็คงเหลือสำหรับจะแบ่งต่อไปอีก 16 ส่วน ซึ่งในจำนวน 16 ส่วนนี้นางเจริญ นางสวาท นางสังวรณ์ และนางช้อย ได้รวมกัน 1 ส่วนนัยหนึ่งนางเจริญ นางสวาท และนางสังวรณ์ ได้ 3 ใน 4 ของหนึ่งส่วนจาก 16 ส่วน ปรากฏว่ายังมิได้ทำศพพระอรรถวสิษฐสุธี โจทก์และจำเลยบางคนที่มาศาลได้แถลงขอให้ทำศพหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเห็นว่าเป็นจำนวนพอสมควร จึงพิพากษากลับให้เอาที่ดินมรดก 3 แปลง แบ่งให้นายศิริ นายอุทัย นางสาวรองรัตน์ นายสม และนายธงชัยอิศรภักดี คนละหนึ่งในยี่สิบหกส่วน เหลือจากนั้นแบ่งเป็น 16 ส่วน ให้นางเจริญ นางสวาท และนางสังวรณ์ อิศรภักดี 3 ใน 4 ของหนึ่งใน 16 ส่วน หากไม่ตกลงแบ่งกันเองได้ ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่ง ให้กันเงินค่าทำศพไว้ก่อนหนึ่งหมื่นบาทค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

นางกวี จรรยาวิโรจน์ (กฤษณา อิศรภักดี) จำเลยที่ 8 ผู้เดียวฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์และจำเลยอื่นนอกจากนางกวี จรรยาวิโรจน์ (กฤษณา อิศรภักดี) จำเลยที่ 8 มิได้ฎีกาขึ้นมาว่าอย่างใด จึงมีข้อวินิจฉัยเฉพาะข้อที่จำเลยที่ 8 ฎีกาขึ้นมาเท่านั้น จำเลยผู้นี้ฎีกาว่า จำเลยที่ 8 เป็นคู่ความกับโจทก์เมื่อโจทก์ตกลงกับจำเลยประการใดย่อมยุติ จำเลยอื่นหาได้เป็นคู่ความด้วยไม่ ถ้าจำเลยอื่นเห็นว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 8 มากไป เป็นการเสียหายแก่ตน ก็ควรคัดค้านหรือว่ากล่าวอีกส่วนหนึ่งได้ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อนี้จำเลยที่ 8 ได้ให้การต่อสู้ว่า ก่อนพระอรรถวสิษฐสุธีถึงแก่กรรม ได้พูดยกที่ดินโฉนดที่ 1271 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน25 วา ให้จำเลยครึ่งหนึ่ง เพื่อปลูกเรือนหออยู่กินกับสามี จำเลยกับสามีได้ปลูกเรือนในที่ที่ยกให้ ได้ใช้สิทธิครอบครองมาด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกว่าสิบปีแล้ว และปรากฏตามรายงานพิจารณา ลงวันที่ 18 มีนาคม 2498 ว่า โจทก์ (ทั้งสองคดี) กับนางกฤษณา (นางกวี จรรยาวิโรจน์) จำเลยที่ 8 ได้ตกลงปรองดองกันให้นางกฤษณา จำเลยที่ 8 มีส่วนได้ในที่ดินมรดกที่พิพาทกัน ตามเนื้อที่ตามที่ครอบครองอยู่ เป็นเนื้อที่ดิน 118 ตารางวา ตามข้อตกลงปรองดองกันนี้ ศาลนี้เห็นว่า โจทก์พอใจยินยอมให้จำเลยที่ 8 ได้ส่วนแบ่งที่ดินเป็นเนื้อที่ดิน 118 ตารางวา แม้จะปรากฏว่าจำเลยอื่นบางคนมิได้ตกลงยินยอมตามข้อตกลงด้วย และผลของการตกลงจะไม่ผูกพันจำเลยอื่นก็ดี แต่ก็ผูกพันระหว่างโจทก์ทั้งสองคดีกับจำเลยที่ 8 ตามความยินยอมตกลงของโจทก์ทั้งสองคดีและจำเลยที่ 8 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 จึงพิพากษาแก้ระหว่างโจทก์ทั้งสองคดีกับนางกฤษณา หรือ นางกวีจรรยาวิโรจน์ จำเลยที่ 8 ให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ 1271 ให้แก่จำเลยที่ 8 เป็นเนื้อที่ครึ่งหนึ่ง 118 ตารางวา ตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ให้พึงเข้าใจว่า ให้มีผลบังคับระหว่างโจทก์ทั้งสองคดีกับจำเลยที่ 8 เท่านั้น นอกจากที่แก้คงพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาคงให้เป็นพับไป

Share