คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้ และในฟ้องระบุถึงจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่จนถึงวันฟ้องทั้งแสดงหลักฐานหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับสัญญาค้ำประกันมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว บัญชีกระแสรายวันที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องเป็นรายละเอียดในชั้นนำสืบไม่จำต้องแนบมาท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ป. ฟ้องคดีแทน และโดยที่เป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนได้ทั่วไป แม้มิได้ระบุตัวบุคคลที่จะให้ฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงในหนังสือมอบอำนาจ ป. ก็มีอำนาจฟ้อง หลังจากวันที่ 31 มีนาคม 2521 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุสัญญาที่ต่อออกไปเป็นครั้งสุดท้าย จำเลยยังคงถอนเงินออกและนำเงินเข้าบัญชีหักทอนหนี้กับโจทก์อีกหลายครั้ง จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน2525 ถือได้ว่า คู่กรณีตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดอายุสัญญา เมื่อไม่มีการหักทอนบัญชีและบอกกล่าวเลิกสัญญา สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงยังไม่สิ้นสุดลง เมื่อต่อมาโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 มีนาคม 2526 ย่อมถือได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาและมีผลให้สัญญาเลิกกันในวันที่ 15มีนาคม 2526 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันเลิกสัญญาคือวันที่ 15 มีนาคม 2526 จำเลยที่ 3 ให้การเพียงว่า จำเลยที่ 3 ได้วางบัญชีเงินฝากของตนค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ได้ ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ถอนเงินฝากดังกล่าวมาชำระจนหมดแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 3 มิได้ให้การถึงการที่โจทก์ใช้สิทธิในการถอนเงินล่าช้าอันเป็นการใช้สิทธิไม่ชอบ และทำให้จำเลยที่ 3 เสียหายตามที่ฎีกาโต้เถียงมา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายประกอบ โกยกุล ผู้จัดการโจทก์สาขาชุมพร เป็นผู้ดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2518จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้มาทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน100,000 บาท กำหนดชำระภายใน 12 เดือน และยอมให้ดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 มอบสมุดเงินที่ฝากประจำบัญชีเลขที่ 2245 ซึ่งมีเงินฝากอยู่ 100,000 บาท ให้โจทก์อายัดไว้โดยตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ชำระหนี้คืน ยอมให้โจทก์หักเอาจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวได้ ทั้งนี้การเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้ถือตามยอดเงินตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่191 ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เปิดไว้กับโจทก์ครั้นวันที่ 4 มิถุนายน2518 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ยื่นคำขอเพิ่มวงเงินครั้งที่ 1 เป็นเงิน200,000 บาท เงื่อนไขอื่น ๆ ให้ถือตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2518 ทั้งนี้มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ 200,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เพื่อเป็นประกันจำเลยที่ 3 มอบสมุดเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 721, 2157, 2353 ซึ่งมีเงินฝากอยู่ทั้งสิ้น 100,000 บาท ให้โจทก์อายัดไว้ และยอมให้โจทก์หักเงินในบัญชีดังกล่าวชำระหนี้จนครบถ้วน ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2520จำเลยทั้งสามได้มาทำหนังสือสัญญาลดวงเงินจากเดิม 200,000 บาทเหลือ 100,000 บาท และเงินส่วนที่เหลือ 100,000 บาทนี้จำเลยทั้งสามจะชำระให้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2521 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ยังเดินบัญชีเรื่อยมา ครั้นมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่จำเลยที่ 1 ก็ยินยอมให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 11 ต่อปีจากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็หยุดเดินบัญชีกระแสรายวันและไม่ปฏิบัติตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกเลยเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 1ได้ทำหนังสือขอผ่อนชำระหนี้ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2522 ว่าจะผ่อนชำระหนี้เดือนละ 3,000 บาท แต่ก็ไม่ชำระเมื่อวันที่ 10 กันยายน2524 จำเลยยอมรับยอดหนี้สิ้นสุดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเพียงวันที่31 สิงหาคม 2524 เป็นเงิน 158,690.63 บาท และจำเลยจะผ่อนชำระเดือนละ 5,000 บาท ครั้นแล้วจำเลยก็ผิดนัดจนวันที่ 19เมษายน 2525 จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์เพียงวันที่ 31 มีนาคม2525 ต้นเงิน 123,927.93 บาท ดอกเบี้ย 47,632.37 บาทรวมเป็นเงิน 171,560.30 บาท โดยจำเลยขอชำระหนี้ภายในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2525 ผ่อนชำระเงินเดือนละ 25,000 บาทและตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2525 จะชำระเดือนละ 5,000 บาทดอกเบี้ยต่างหาก ทั้งนี้จำเลยที่ 3 ก็ย่อมรับรู้การผ่อนชำระหนี้ด้วย แต่จำเลยก็ผิดนัดชำระหนี้อีก เมื่อนับถึงวันที่ 31 กรกฎาคม2529 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 258,654.79บาท โจทก์ได้ติดตามทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน258,654.79 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ 3 ยอมรับว่าเคยทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 การค้ำประกันนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้นำบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 2245จำนวนเงิน 100,000 บาท และจำเลยที่ 3 ได้วางบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 721, 2157, 2353 จำนวนเงิน 100,000 บาท ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ที่ 2ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยทั้งสามเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ตามฟ้องโจทก์ว่าในวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์258,654.79 บาท นั้นไม่เป็นความจริงเพราะโจทก์ได้นำเงินฝากประจำดังกล่าวของจำเลยทั้งสามมาหักทอนชำระหนี้จนหมดแล้วตั้งแต่วันที่31 มีนาคม 2519 ซึ่งเป็นวันครบสัญญาตามข้อตกลงข้างต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่มีหนี้สินต่อโจทก์อีกจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่มีหนี้สินต่อโจทก์เช่นกัน โจทก์เคยทวงถามและเลิกสัญญาเงินกู้กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วตั้งแต่ปี 2522 ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีก โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าข้อตกลง ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 ไม่อาจต่อสู้ในส่วนจำนวนเงินต้นที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ค้างชำระอยู่ เพราะโจทก์มิได้บรรยายว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามข้อตกลงคือวันที่ 31มีนาคม 2519 จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่ในเงินต้นเท่าใดดอกเบี้ยเท่าใด จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นโดยการคิดดอกเบี้ยทบต้นเริ่มตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ได้หักทอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยทั้งสามตั้งแต่เมื่อใด คงสรุปเอาเพียงตอนท้ายว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ 258,654.79 บาท เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม2529 เท่านั้น อีกทั้งมีภาพถ่ายบัญชีกระแสรายวันท้ายฟ้องเพียง1 ฉบับ และเป็นรายการดอกเบี้ยทั้งสิ้น จำเลยที่ 3 ไม่อาจที่จะเข้าใจถึงสภาพแห่งการเรียกร้องจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นมาอย่างไรและไม่อาจต่อสู้คดีในประเด็นนี้ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน165,792.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2526 จนกว่าชำระเสร็จตามคำพิพากษาให้โจทก์ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เงินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เบิกเกินบัญชี ให้ถือตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 191 แต่บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 191 ในเอกสารท้ายฟ้องคงมีแต่รายการดอกเบี้ยเท่านั้น ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าเมื่อหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 3 ไปแล้ว ในวันที่หักใช้หนี้มีหนี้เหลืออยู่เท่าใด ฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุมนั้นเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้ และในฟ้องระบุถึงจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามเป็นหนี้เบิกเกินบัญชีอยู่จนถึงวันฟ้องทั้งแสดงหลักฐานหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับสัญญาค้ำประกันมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว บัญชีกระแสรายวันที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องเป็นรายละเอียดในชั้นนำสืบไม่จำต้องแนบมาท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 จะเป็นคนละฉบับกับสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ที่จำเลยที่ 3 ได้รับสำเนาไป แต่ก็มีข้อความสาระสำคัญเหมือนกัน กล่าวคือ ระบุว่า ธนาคารโจทก์มีนายดำรงค์ กฤษณามระเป็นกรรมการผู้มีอำนาจได้มอบอำนาจให้นายประกอบ โกยกุล ผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาชุมพร เป็นตัวแทนในการกระทำกิจการต่าง ๆ ดังระบุไว้รวมทั้งดำเนินคดีแพ่งด้วย กับโจทก์มีนายประกอบ โกยกุล เป็นพยานเบิกความว่าพยานเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาชุมพร ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยนายดำรงค์ กฤษณามระ กรรมการของโจทก์ลงชื่อมอบอำนาจและประทับตราสำคัญของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เอกสารดังกล่าวทำขึ้นแทนต้นฉบับของเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ที่หายไปและทำขึ้นก่อนฟ้องคดีนี้ ข้อนี้จำเลยที่ 3 มิได้นำสืบหักล้างแต่ประการใดข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายประกอบฟ้องคดีแทนและโดยที่เป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนได้ทั่วไป แม้มิได้ระบุตัวบุคคลที่จะให้ฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจง นายประกอบก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อมาว่า บัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ถูกยกเลิกตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2522 เพราะฝ่ายโจทก์เบิกความว่าโจทก์ได้ระงับการเบิกเงินในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1ที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2522 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 7ธันวาคม 2522 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอากับจำเลยอีกนั้น เห็นว่า นอกจากจะได้ความจากนายประกอบพยานโจทก์ว่าหลังจากวันที่ 6 ธันวาคม 2522 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มีสิทธิจะเบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันอีกแล้ว ยังได้ความต่อไปว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะจำเลยได้เบิกเงินเกินวงเงินไปมากแล้ว หากจำเลยผ่อนชำระหนี้ให้อยู่ภายในวงเงินแล้ว โจทก์จึงจะยอมให้จำเลยเบิกเงินไปได้อีก ข้อเท็จจริงหาได้ปรากฏตามที่จำเลยฎีกาไม่ แต่กลับปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.12 ว่า หลังจากวันที่ 31มีนาคม 2521 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุสัญญาที่ต่อออกไปเป็นครั้งสุดท้ายจำเลยยังคงถอนเงินออกและนำเงินเข้าบัญชีหักทอนหนี้กับโจทก์อีกหลายครั้งจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2525 ถือได้ว่าคู่กรณีตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดอายุสัญญาเมื่อไม่มีการหักทอนบัญชีและบอกกล่าวเลิกสัญญา สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงยังไม่สิ้นสุดลง เมื่อต่อมาโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 มีนาคม 2526 ย่อมถือได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาและมีผลให้สัญญาเลิกกันในวันที่ 15 มีนาคม 2526 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันเลิกสัญญา คือวันที่ 15 มีนาคม 2526หาใช่วันที่ 7 ธันวาคม 2522 ดังจำเลยที่ 3 ฎีกาโต้เถียงไม่ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
จำเลยที่ 3 ฎีกาในประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2522 เท่านั้น การคิดดอกเบี้ยธรรมดาคิดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2522 เมื่อนับถึงวันฟ้องแล้ว เกินกำหนดเวลา 5 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันเลิกสัญญา คือวันที่ 15 มีนาคม 2526ดังได้วินิจฉัยแล้วและโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นในหนี้ที่ค้างชำระนับแต่นั้นไปจนถึงวันฟ้องคดีนี้ คือวันที่ 20 สิงหาคม 2529ยังไม่เกินระยะเวลา 5 ปี จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช้สิทธิถอนเงินฝากของจำเลยที่ 3 มาหักทอนบัญชีเมื่อครบกำหนดในสัญญากลับปล่อยให้บัญชีเดินสะพัดอยู่ แล้วมาใช้สิทธิถอนในภายหลัง เป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ ทำให้จำเลยที่ 3เสียหายในส่วนดอกเบี้ยทบต้นนั้นปรากฏว่า จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดีไว้เพียงว่า จำเลยที่ 3 ได้วางบัญชีเงินฝากของตนค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ได้ ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ถอนเงินฝากดังกล่าวมาชำระจนหมดแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 3มิได้ให้การถึงการที่โจทก์ใช้สิทธิในการถอนเงินล่าช้าอันเป็นการใช้สิทธิไม่ชอบและทำให้จำเลยที่ 3 เสียหายตามที่ฎีกาโต้เถียงมาฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share