คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 2 อ้างอิงมีจำนวนไม่มากมายไม่จำเป็นต้องใช้เวลาค้นหาและแปลเอกสารนานถึง 10 วัน ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 หลังจากได้รับสำเนาคำฟ้องแล้วจำเลยที่ 2 ก็ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปถึง 5 วันจึงไปพบกับทนายความ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพราะความบกพร่องของจำเลยที่ 2 เอง ยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษอันศาลจะพึงมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์โดยโจทก์มอบให้บริษัทมาบุญครองเซ็นเตอร์ จำกัด ควบคุมดูแลกิจการคณะผู้ดำเนินงานศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำความสะอาดในศูนย์การค้าดังกล่าว ขณะเกิดเหตุนี้จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และได้รับคำสั่งมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ทำความสะอาดในศูนย์การค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลละเมิด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2529เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้นำรถขนขยะไปเก็บขยะบริเวณชั้น 4 ของอาคาร จำเลยที่ 1 จอดรถเก็บขยะในลักษณะหันล้อหน้าเข้าหาบันไดเลื่อนและเอียง แล้วไปเก็บขยะในที่ต่าง ๆ มาใส่รถเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถขยะเลื่อนไหลเข้าชนราวบันไดเลื่อนได้รับความเสียหายมากไม่อาจซ่อมแซมได้ ต้องเปลี่ยนราวบันไดเลื่อนใหม่ ความเสียหายคิดเป็นเงิน 220,000 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้วไม่ชำระ ขอศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีคิดนับแต่วันจำเลยทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 เดือน และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน22,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2529 ซึ่งถือว่าจำเลยเริ่มผิดนัดจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ กับให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเท่าที่ชนะคดีให้โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 220,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ด้วยโดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่ามีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การหรือไม่ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพนักงานเดินหมายได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องส่งให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 โดยมีนางปรียา ตันกุล รับไว้แทน จำเลยที่ 2 ต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในแปดวัน ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นคำให้การ อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ติดต่อและพบทนายความวันที่ 5สิงหาคม 2529 พบว่าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่ที่บริษัทคอมเมอร์เชียลยูเนี่ยนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 2ขอให้บริษัทดังกล่าวจัดส่งเอกสาร แต่บริษัทดังกล่าวขอเวลาค้นหาเอกสาร และแปลเอกสารจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ประมาณ 10 วันจำเลยที่ 2 จึงขอขยายเวลายื่นคำให้การออกไปอีก 10 วัน เมื่อศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องดังกล่าว จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด แต่ยื่นคำร้องขอยื่นคำให้การอ้างว่าไม่จงใจขาดนัดในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 2 จะอ้างอิงในคำให้การเกี่ยวกับคดีละเมิดนี้มีจำนวนไม่มาก ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาค้นหาและแปลเอกสารนานถึง 10 วัน หลังจากได้รับสำเนาคำฟ้องแล้วจำเลยที่ 2 ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปถึง 5 วัน จึงไปพบกับทนายความ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความบกพร่องของจำเลยที่ 2 เอง ยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษอันศาลจะพึงมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ต้องยื่นคำให้การภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2529 แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดกลับยื่นคำร้องขอยื่นคำให้การในวันนัดสืบพยานโจทก์ โดยอ้างเหตุเช่นเดิมอีก จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ และไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต่อไปว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด จำเลยที่ 2รับว่าจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างโดยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า ราวบันไดเลื่อนเป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรบันไดเลื่อน ที่นายตระการและนายประสิทธิ์เบิกความว่า ราวบันไดมีแผลลึก 1 เซนติเมตรนั้น นายตระการไม่ได้ตรวจด้วยตนเอง ตามรายงานเสนอหัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัย ซึ่งนายประสิทธิ์ทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุเพียง 5 นาที ปรากฏว่าราวบันไดเลื่อนมีแผลลึกเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่เซนติเมตรเท่านั้นน่าจะถูกต้องตามความจริง เมื่อราวบันไดเลื่อนมีแผลลึกเศษหนึ่งส่วนสี่เซนติเมตร ย่อมไม่อาจลึกเข้าไปถึงเนื้อยางและลวดสปริงยังไม่สมควรเปลี่ยนราวบันได ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เพียง 22,000 บาท จึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว
คดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์ฎีกาเพียงผู้เดียว ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247 ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเพียง 3 เดือน เป็นเงิน 4,125บาท และคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตรงกันให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ เกินไป 13 วัน แม้ไม่มีคู่ความฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อมิให้พิพากษาเกินคำขอและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน22,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันละเมิดจนครบ 3 เดือน กับดอกเบี้ยอัตราเดียวกันของต้นเงิน22,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share