แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีที่จะอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1)ซึ่งมีการจำกัดในการลงโทษในความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 10 ปี นั้น หมายถึงคดีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมแล้วโจทก์ฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือคดีที่เกี่ยวพันกัน สามารถรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ เนื่องจากลักษณะของความผิดที่กระทำนั้นเกี่ยวพันกัน แต่โจทก์แยกฟ้องมาหลายคดี
จำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ค่าซื้อพลอยให้แก่โจทก์ร่วมหลายครั้งและยักยอกทรัพย์โจทก์ร่วมเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดี จึงอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) ในเรื่องการจำกัดระยะเวลาในการลงโทษจำคุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และนางวลัยภรณ์ บุญประเสริฐร่วมกันออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขสวัสดิ์ และสาขาถนนศรีรองเมือง จำนวน 528 ฉบับให้แก่นายธงชัย พลอยชาติตระกูล ผู้เสียหายชำระค่าซื้อพลอยซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งนี้ โดยจำเลยที่ 1 กับพวกออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น หรืออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ และเมื่อระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่ 10 มกราคม 2541 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยทั้งสองได้รับมอบพลอยจำนวน 76 รายการ รวมราคา 41,581,131 บาทตามบัญชีท้ายฟ้องจากผู้เสียหายไว้ในความครอบครอง ต่อมาระหว่างวันเวลาข้างต้นถึงวันที่ 26 มกราคม 2541 เวลากลางวันต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบียดบังทรัพย์ดังกล่าวไปโดยทุจริต เหตุทั้งหมดเกิดที่แขวงบางปะกอก เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ตำบลวัดใหม่และตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91, 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 41,581,131 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายธงชัย พลอยชาติตระกูล ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2)(3)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำคุกกระทงละ 2 เดือน 528 กระทง เป็นจำคุก 44 ปีฐานร่วมกันยักยอก จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 47 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 23 ปี 6 เดือน ความผิดฐานยักยอกซึ่งเป็นกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) ส่วนจำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง, 83 จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 41,581,131 บาทแก่ผู้เสียหาย
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 41,581,131 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมเพียงว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) นับโทษจำคุกติดต่อกันเกินกว่าสิบปีได้หรือไม่ เห็นว่า คดีที่จะอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) ซึ่งมีการจำกัดในการลงโทษในความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกินสิบปีนั้นหมายถึงคดีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมแล้ว โจทก์ฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือคดีที่เกี่ยวพันกันสามารถรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้เนื่องจากลักษณะของความผิดที่กระทำนั้นเกี่ยวพันกัน แต่โจทก์แยกฟ้องมาหลายคดี คดีนี้จำเลยที่ 1 กระทำผิดต่อโจทก์ร่วมเพียงคนเดียว โดยจำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระค่าซื้อพลอยให้แก่โจทก์ร่วมหลายครั้ง และยักยอกทรัพย์เป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) ในเรื่องการจำกัดระยะเวลาในการลงโทษจำคุก ศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 โดยนับโทษติดต่อกันเกินกว่าสิบปีไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนดสิบปีนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน