คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คู่ความตกลงท้ากันว่าหากเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินของโจทก์แล้วปรากฏว่ารั้วลวดหนามที่จำเลยทำขึ้นอยู่ในเนื้อที่ดังกล่าว จำเลยยอมแพ้แต่หากรั้วดังกล่าวอยู่นอกเนื้อที่ โจทก์ยอมแพ้ หลังจากการรังวัดที่ดินดังกล่าวคู่ความตรวจดูแผนที่พิพาทและบันทึกการนำชี้แนวเขตตามที่เจ้าพนักงานที่ดินส่งมาแล้วแถลงรับร่วมกันว่าเสารั้วคอนกรีตขึงด้วยลวดหนามอยู่ภายในที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาท ดังนี้ แม้ในแผนที่พิพาทและบันทึกการชี้แนวเขตไม่ปรากฏความเห็นของเจ้าพนักงานที่ดินว่าเสารั้วคอนกรีตขึงด้วยลวดหนามที่จำเลยทำขึ้นรุกล้ำที่ดินของโจทก์หรือไม่ แต่ในวันที่เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัด ทั้งสองฝ่ายต่างไปนำชี้แนวเขตที่ดินของตนย่อมต้องทราบดีว่าเสารั้วคอนกรีตขึงด้วยลวดหนามที่จำเลยทำขึ้นดังกล่าวรุกล้ำที่ดินของโจทก์หรือไม่ เมื่อคู่ความต่างลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งมีข้อความระบุว่าคู่ความแถลงรับร่วมกันว่า เสารั้วคอนกรีตขึงด้วยลวดหนามอยู่ภายในที่ดินตามโฉนดพิพาทโดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ย่อมต้องถือว่าคู่ความยอมรับความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไม่ดำเนินการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยจึงเป็นอันถูกต้องแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ขอรังวัดสอบเขตที่ดินจำเลยโฉนดเลขที่ 33355 ตำบลบ้านโพธิ์อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาของจำเลย และประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2535 จำเลยได้นำชี้แนวเขตที่ดินของจำเลยรุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 33356 ของโจทก์ ส่วนด้านทิศเหนือ และหลอกลวงให้โจทก์รับรองแนวเขตตามที่จำเลยนำชี้ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินโฉนดของจำเลยเข้าไปในที่ดินของโจทก์ 48 ตารางวา และปักเสาทำรั้วลวดหนามล้อมไว้ โจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้เพิกถอนการแก้ไขรูปแผนที่ที่ดินและเนื้อที่ในโฉนดเลขที่ 33355 ของจำเลยที่เพิ่มขึ้น 48 ตารางวา ให้จำเลยรื้อถอนเสาคอนกรีตและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินของโจทก์กับห้ามจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป จำเลยให้การว่า การรังวัดได้กระทำไปถูกต้อง รั้วทำขึ้นในที่ดินของจำเลยไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ในวันชี้สองสถานโจทก์และจำเลยท้ากันว่าหากเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 33356 เนื้อที่ 3 งาน 8 ตารางวา แล้ว ปรากฏว่ารั้วลวดหนามที่จำเลยทำขึ้นอยู่ในเนื้อที่ดินดังกล่าว จำเลยยอมแพ้ แต่หากรั้วดังกล่าวอยู่นอกเนื้อที่โจทก์ยอมแพ้ ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2537 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมเพื่อตรวจสอบแผนที่พิพาทที่เจ้าพนักงานที่ดินส่งศาล ศาลชั้นต้นได้บันทึกรายงานกระบวนพิจารณาไว้ว่า “นัดพร้อมวันนี้ทนายโจทก์และทนายจำเลยมาศาล ให้คู่ความตรวจดูแผนที่พิพาทและบันทึกถ้อยคำตามที่เจ้าพนักงานที่ดินส่งมาและทนายโจทก์อ้างส่งแล้ว คู่ความแถลงรับร่วมกันว่าเสารั้วคอนกรีตขึงด้วยลวดหนามอยู่ภายในที่ดินตามโฉนดพิพาทจึงบันทึกไว้ คดีเสร็จการพิจารณา นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 15 เมษายน ศกนี้เวลา 13.30 นาฬิกา” และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในวันนัดดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าตามแผนที่ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาทำขึ้นและจากคำแถลงของคู่ความได้ความว่ารั้วลวดหนามอยู่ในเนื้อที่ของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 33356 ของโจทก์ จำเลยย่อมต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า พิพากษาให้เพิกถอนการแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในโฉนดที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 33355 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ส่วนที่เพิ่มขึ้น 48 ตารางวา ให้จำเลยรื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับห้ามจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์อีกต่อไปให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2541 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยเพิ่งทราบภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วว่าแผนที่พิพาทที่เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดและส่งศาลไว้นั้น มิได้มีคำชี้ขาดของเจ้าพนักงานที่ดิน คำแถลงรับของคู่ความก็ไม่มีผลที่จะใช้วินิจฉัยคดีตามคำท้าของคู่ความได้ ฉะนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 มีนาคม 2537 ที่ว่าคดีเสร็จการพิจารณาให้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 15 เมษายน 2537 เวลา 13.30 นาฬิกา เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่และพิพากษาคดีตามรูปคดีต่อไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากระบวนพิจารณาของศาลชอบด้วยกฎหมายมิใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จึงให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 16 มีนาคม 2537 ที่ว่า คดีเสร็จการพิจารณานั้น ชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงในสำนวนฟังได้ว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งเป็นวันนัดชี้สองสถานทนายความทั้งสองฝ่ายตกลงท้ากันว่าหากเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 33356 ของโจทก์แล้ว ปรากฏว่ารั้วลวดหนามที่จำเลยทำขึ้นอยู่ในเนื้อที่ดังกล่าว จำเลยยอมแพ้ แต่หากรั้วดังกล่าวอยู่นอกเนื้อที่ โจทก์ยอมแพ้ หลังจากนั้นมีการรังวัดที่ดินของโจทก์ดังกล่าวรวม 3 ครั้ง ต่อมาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 16 มีนาคม2537 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม คู่ความตรวจดูแผนที่พิพาทและบันทึกการนำชี้แนวเขตตามที่เจ้าพนักงานที่ดินส่งมาและทนายโจทก์อ้างส่งแล้ว คู่ความแถลงรับร่วมกันว่าเสารั้วคอนกรีตขึงด้วยลวดหนามอยู่ภายในที่ดินตามโฉนดพิพาท ดังนี้ แม้ในแผนที่พิพาทและบันทึกการชี้แนวเขตไม่ปรากฏความเห็นของเจ้าพนักงานที่ดินว่า เสารั้วคอนกรีตขึงด้วยลวดหนามที่จำเลยทำขึ้นรุกล้ำที่ดินโจทก์หรือไม่ แต่ในวันที่เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดทั้งสองฝ่ายต่างไปนำชี้แนวเขตที่ดินของตน ย่อมต้องทราบดีว่าเสารั้วคอนกรีตขึงด้วยลวดหนามที่จำเลยทำขึ้นดังกล่าวรุกล้ำที่ดินของโจทก์หรือไม่ เมื่อคู่ความต่างลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา ซึ่งมีข้อความระบุว่า คู่ความแถลงรับร่วมกันว่าเสารั้วคอนกรีตขึงด้วยลวดหนามอยู่ภายในที่ดินตามโฉนดพิพาทโดยไม่โต้แย้งคัดค้าน ย่อมต้องถือว่าคู่ความยอมรับความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไม่ดำเนินการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยจึงเป็นอันถูกต้องแล้ว ไม่ผิดระเบียบอันจะขอให้เพิกถอนได้ดังจำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share