แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยตั้งใจที่จะเข้าไปเก็บเอาไม้กฤษณาเพื่อนำออกไปขายหาเลี้ยงชีพ แต่ก่อนที่จำเลยจะได้ไม้กฤษณามาเพื่อนำออกไปขายจำเลยได้ตัดโค่นต้นไม้กฤษณาและเซาะต้นไม้กฤษณาเป็นชิ้นแล้วรวบรวมไว้ ซึ่งเป็นเจตนาและการกระทำต่างหากจากการครอบครองเพื่อนำออกไปขาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
แม้ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยเนื่องจากเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งแต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยนั้นเหมาะสมหรือไม่ แต่ต้องไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันลักลอบเข้าไปในบริเวณป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งอยู่ในเขตป่าแควระบมและป่าสียัด อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันทำไม้และเก็บหาของป่า โดยได้ใช้มีดและขวานตัดโค่นต้นไม้กฤษณาจำนวนหนึ่งพร้อมกับใช้มีดและขวานฟันขุด เซาะต้นไม้กฤษณาซึ่งล้มอยู่ในป่าแล้วรวบรวมชิ้นไม้กฤษณาดังกล่าวซึ่งเป็นของป่าหวงห้าม อันเป็นการเก็บหาของป่าหวงห้ามและเป็นการกระทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นการทำลายต้นไม้และพฤกษชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้และพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งชิ้นไม้กฤษณาอันเป็นของป่าหวงห้ามจำนวน 7 กิโลกรัม ซึ่งเกินปริมาณที่รัฐมนตรีได้ประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29, 29 ทวิ,71 ทวิ, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 21, 35 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2535 มาตรา 38, 54, 57 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 29 วรรคหนึ่ง,71 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 57 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 57 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 29 ทวิ วรรคหนึ่ง, 71 ทวิ อีกกระทงหนึ่งจำคุกคนละ 6 เดือนรวมจำคุกคนละ 10 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ9 เดือน ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นความผิด และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวหรือไม่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาเดียวกันตั้งแต่ต้นคือ จำเลยทั้งสองตั้งใจที่จะเข้าเก็บเอาไม้กฤษณาเพื่อนำออกไปขายหาเลี้ยงชีพ ซึ่งน่าจะมองได้ว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีเพียงเจตนาเดียว น่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวเท่านั้นเห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองตั้งใจที่จะเข้าไปเก็บเอาไม้กฤษณาเพื่อนำออกไปขายหาเลี้ยงชีพ แต่ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะได้ไม้กฤษณามาเพื่อนำออกไปขาย จำเลยทั้งสองได้ตัดโค่นต้นไม้กฤษณาและเซาะต้นไม้กฤษณาเป็นชิ้นแล้วรวบรวมไว้ซึ่งเป็นเจตนาและการกระทำต่างหากจากการครอบครองเพื่อนำออกไปขาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่การกระทำอันเป็นกรรมเดียวดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นแม้ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาดังกล่าวเนื่องจากเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งแต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยทั้งสองนั้นเหมาะสมหรือไม่ แต่ต้องไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยศาลฎีกาเห็นว่า แม้การกระทำความผิดตามฟ้องของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงเครื่องมือที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิดซึ่งเป็นเพียงมีดและขวานที่ไม่ปรากฏว่ามีขนาดใหญ่เพียงใด และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ทำการโค่นต้นไม้เป็นบริเวณกว้างเพียงใด ไม้กฤษณาที่จำเลยทั้งสองรวบรวมมาได้มีน้ำหนักเพียง 7 กิโลกรัม การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาต และได้ความจากฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีอาชีพทำไร่การเก็บหาไม้กฤษณาดังกล่าวไปก็เพื่อนำไปขายหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อโจทก์รับสำเนาฎีกาแล้วไม่แก้ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปเพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว อันเป็นการกระทำเพื่อการยังชีพของตนเองและบุคคลในครอบครัว ซึ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในยามนี้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจึงหาเป็นการร้ายแรงเท่าใดนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยกระทำความผิดถึงต้องโทษจำคุกมาก่อนตามสภาพแห่งการกระทำความผิดสมควรรอการลงโทษให้จำเลยทั้งสอง เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสองได้กลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วนแต่เพื่อให้จำเลยทั้งสองเข็ดหลาบและยำเกรงต่อกฎหมาย สมควรปรับจำเลยทั้งสองอีกสถานหนึ่ง
อนึ่ง คดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำไม้หวงห้ามและมิได้ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2488 มาตรา 11,73 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 และศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 215 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 ให้ปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535มาตรา 38, 54 วรรคหนึ่ง คนละ 5,000 บาท กับปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29 ทวิ วรรคหนึ่ง,71 ทวิ คนละ 1,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมปรับจำเลยทั้งสองคนละ 6,000 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับคนละ 3,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2