คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7177/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กระทรวงคมนาคม จำเลยที่ 1 และกรมทางหลวง จำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีหรือสร้างทางหลวงแผ่นดิน ตลอดจนการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงทางหลวงแผ่นดิน การดำเนินการเวนคืนที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 และพระราชกฤษฎีกาฯ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามนโยบายของรัฐส่วนจำเลยที่ 2 เป็นรัฐมนตรีมีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ใช่ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยตรง แต่ก็มีฐานะเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฯ และพระราชกฤษฎีกาฯ และมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ส่วนอธิบดีกรมทางหลวง จำเลยที่ 4 ตามประกาศของคณะปฏิวัติฯ และพระราชกฤษฎีกาฯกำหนดให้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ในฐานะอธิบดีมิได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ได้ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ได้กำหนดว่า โจทก์ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทน หากไม่พอใจในเงินค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้โจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มเติมได้ แม้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ จะมิได้กำหนดว่าฟ้องบุคคลใดได้บ้างก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าบุคคลที่จะถูกฟ้องคือบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 และ 5201 ได้มีประกาศใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2515 เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายธนบุรี ปากท่อ ตอนที่ตั้งด่านชั่งน้ำหนัก และเมื่อวันที่18 มิถุนายน 2536 ได้มีประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพฯ คลองพรวน ตอนวังมะนาว อำเภอชะอำ พ.ศ. 2536 กำหนดให้จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายดังกล่าว ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 9703 ถูกเวนคืนทั้งแปลงเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 57 ตารางวา โดยได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินไร่ละ50,000 บาท เป็นเงิน 94,625 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ถูกเวนคืนบางส่วนเนื้อที่1 งาน 86 ตารางวา โดยได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินไร่ละ 1,000,000 บาท เป็นเงิน 465,000บาท เงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,926,319 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องในการเวนคืน ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 มิได้เป็นผู้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ถูกเวนคืนโดยกฎหมายคนละฉบับในเวลาที่แตกต่างกัน การกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินจึงต่างกัน คณะกรรมการเวนคืนฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 ตามราคาที่กำหนดในบัญชีกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ใช้อยู่ในวันที่คณะกรรมการเวนคืนฯกำหนด อัตราไร่ละ 50,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 57 ตารางวา คิดเป็นเงิน 94,625 บาท ที่ดินของโจทก์มีสภาพเป็นทุ่งนา ไม่มีถนน ราคาซื้อขายที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นราคาที่สูงขึ้นในภายหลังเมื่อมีการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแล้ว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ถูกเวนคืนโดยการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพ คลองพรวน ตอนวังมะนาว อำเภอชะอำ พ.ศ. 2536 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯถือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของสำนักงานที่ดินปี 2535 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ไร่ละ 1,000,000 บาทหรือตารางวาละ 2,500 บาท ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 งาน 86 ตารางวา คิดเป็นเงิน 465,000 บาท โจทก์ไม่มารับเงินค่าทดแทนที่ดิน จำเลยที่ 4 จึงฝากเงินไว้ต่อธนาคารออมสิน สาขาราชบุรี ถือว่าโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินไปถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 4,250,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2538 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,512,875 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1สิงหาคม 2538) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่างเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 และที่ 4จำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 และพระราชกฤษฎีกาฯ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทกระทรวง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1และนโยบายของรัฐ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1มีจำเลยที่ 4 เป็นอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งมีอำนาจทำการแทนในนามของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีหรือสร้างทางหลวงแผ่นดินตลอดจนการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงทางหลวงแผ่นดิน การดำเนินการเวนคืนที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 225 และพระราชกฤษฎีกาฯ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามนโยบายของรัฐ เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่รัฐจัดสรรให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วแยกรายละเอียดเบิกจ่ายในนามจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องดำเนินการโดยจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแม้จะไม่ใช่ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยตรงก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็มีฐานะเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 และพระราชกฤษฎีกาฯและมีอำนาจตั้งคณะกรรมการเวนคืนฯ และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และจำเลยที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือวินิจฉัยแล้วยังไม่เป็นที่พอใจของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 4ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 และพระราชกฤษฎีกาฯ บัญญัติให้จำเลยที่ 4ในฐานะอธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เนื่องจากจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลไม่อาจแสดงเจตนาและกระทำการเองได้ จำเลยที่ 4 จึงเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ ประกอบกับโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ในฐานะอธิบดีกรมทางหลวงมิได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ได้ด้วย และอีกประการหนึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีบทบัญญัติไว้แจ้งชัดว่า โจทก์ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน หากไม่พอใจในเงินค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มเติมได้ แม้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มิได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดว่าจะฟ้องบุคคลใดได้บ้าง แต่ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าบุคคลที่จะถูกฟ้องคือบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทน ซึ่งในการนี้ก็คือจำเลยทั้งสี่นั่นเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการต่อไปมีว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 และ 5201 ตารางวาละ 7,500 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มให้หรือไม่ ปัญหานี้จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ได้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 โดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินในขณะที่พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนโดยถือว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 อยู่ติดทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี ปากท่อ โดยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ไร่ละ 1,000,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 เดิมอยู่ติดถนนเพชรเกษม ซึ่งที่ดินฝั่งตรงข้ามด้านจังหวัดราชบุรีมีราคาประเมินไร่ละ 2,000,000 บาท จึงกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้เป็นไร่ละ 2,000,000บาท เงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ วินิจฉัยเพิ่มให้ดังกล่าวจึงถูกต้องเป็นธรรมแล้วนั้น เห็นว่า สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 เดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 เนื้อที่ 16 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา ก่อนการแบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 บางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ถูกกำหนดให้อยู่ในแนวทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี ปากท่อ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ปากท่อ พ.ศ. 2508 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2508 และต่อมาถูกเวนคืนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225โดยที่ดินส่วนที่อยู่ทางด้านใต้สุดเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 57 ตารางวา เป็นส่วนที่จะใช้สร้างสถานีบริการเชื้อเพลิง และส่วนที่ถัดขึ้นมาเนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 32 ตารางวา เป็นส่วนที่ใช้ก่อสร้างทาง รวมถูกเวนคืนเนื้อที่ 10 ไร่ 89 ตารางวา มีที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่6 ไร่ 2 งาน 6 ตารางวา ทำให้เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ซึ่งมีที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนได้รับประโยชน์จากการเวนคืนอันเนื่องจากที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 6 ไร่2 งาน 6 ตารางวานี้จะอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี ปากท่อ ทำให้มีราคาสูงขึ้นดังนั้น ในการพิจารณาว่าจะเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 ซึ่งก่อนมีการแบ่งแยกออกโฉนดที่ดิน ที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ที่ถูกเวนคืนต้องนำราคาที่ดินที่สูงขึ้นของที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ที่เหลือจากการเวนคืนมาคำนึงว่าควรจะเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 นี้ หรือไม่เพียงใดด้วย เนื่องจากคณะกรรมการเวนคืนฯ เพิ่งกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2536 ซึ่งล่าช้ามาก การที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้โดยใช้ฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ คือวันที่ 10 กรกฎาคม 2508 ย่อมจะไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินมีเพียงเท่ากับเจ้าของที่ดินเดิมขณะที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ กรณีนี้คณะกรรมการเวนคืนฯ เพิ่งกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2536 ศาลฎีกาจึงเห็นว่าหลักเกณฑ์ที่จะนำมาคำนึงในการกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคม ต้องเปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ มาเป็นปลายปี 2534 อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่คณะกรรมการเวนคืนฯ จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ประมาณ2 ปี ระยะเวลาดังกล่าวเทียบเคียงจากระยะเวลาที่ควรต้องใช้ในกรณีปกติที่มีการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แต่สภาพและที่ตั้งของที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 อันมีส่วนสัมพันธ์กับราคาตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) นั้นต้องคำนึงตามสภาพและที่ตั้งของที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 ก่อนการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรีปากท่อ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปกติจนถึงปลายปี 2534 ว่าหากไม่มีการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนี้แล้ว สภาพและที่ตั้งของที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 เป็นเช่นไร และสภาพและที่ตั้งของที่ดินเช่นนั้นควรมีราคาตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (3) เท่าใดจะถือว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 เป็นที่ดินที่อยู่ติดทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี ปากท่อไม่ได้ เพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 ถูกเวนคืนเพื่อสร้างสถานีบริการเชื้อเพลิงอันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี ปากท่อ เมื่อคำนึงตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 เป็นส่วนที่อยู่ห่างจากทางสาธารณะประมาณ120 เมตร สภาพเป็นที่นาอยู่ในชนบท สภาพและที่ตั้งของที่ดินเช่นนี้ในปลายปี 2534 น่าจะมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด และราคาตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2)และ (3) ต่ำกว่าตารางวาละ 7,500 บาทมาก และเมื่อคำนึงถึงเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนี้ประกอบกับผลประโยชน์ของการเวนคืนที่ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นด้วยแล้ว เห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 ที่จำเลยที่ 2 เพิ่มให้แก่โจทก์เป็นไร่ละ 1,000,000 บาท หรือตารางวาละ 2,500 บาท เป็นประโยชน์แก่โจทก์อย่างมากอยู่แล้ว ไม่ควรเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์อีก ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้เป็นไร่ละ 3,000,000 บาท หรือตารางวาละ 7,500 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 งาน 86 ตารางวา เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพฯ คลองพรวน ตอนวังมะนาว อำเภอชะอำ โดยการดำเนินการเวนคืนอาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สายกรุงเทพฯ คลองพรวน ตอนวังมะนาว อำเภอชะอำ พ.ศ. 2536 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2536 นั้น โจทก์ได้นำสืบถึงราคาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5206 ตำบลวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 38 ตารางวา เป็นเงิน 400,000 บาท เฉลี่ยตารางวาละประมาณ 10,526 บาท เมื่อวันที่ 4 มกราคม2536 ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.8 และจ.15 ที่ดินแปลงนี้อยู่เกือบติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ของโจทก์และวันที่ซื้อขายนั้นเป็นวันก่อนใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เพียง 5 เดือนเศษ เมื่อคำนึงถึงราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับสภาพและที่ตั้งของที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ส่วนที่ถูกเวนคืนเป็นส่วนที่อยู่ติดทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี ปากท่อ ยาวประมาณ 200 เมตร และด้านทิศเหนือของที่ดินแปลงนี้อยู่ติดทางสาธารณะ ซึ่งนายกิจจา แก้วปานกัน พยานจำเลยทั้งสี่เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าเป็นถนนเพชรเกษม กับหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21วรรคหนึ่ง (2)(3) และ (5) ประกอบกันทั้งหมดแล้วเห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มให้เป็นตารางวาละ 7,500 บาท นั้นเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วน เนื่องจากไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 และ 5201 ในส่วนที่จำเลยที่ 2 วินิจฉัยเพิ่มให้แก่โจทก์ไปจากฝ่ายจำเลย จึงเห็นควรให้จำเลยทั้งสี่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการเวนคืนฯ และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้แล้วแต่กรณี โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9703 เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการเวนคืนฯ กำหนดตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 อีกไร่ละ 950,000 บาท เนื้อที่1 ไร่ 3 งาน 57 ตารางวา เป็นเงิน 1,797,875 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 5201 เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดตามคำวินิจฉัยของศาลอีกไร่ละ2,000,000 บาท เนื้อที่ 1 งาน 86 ตารางวา เป็นเงิน 930,000 บาท รวมเป็นเงิน2,727,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและวันที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ แต่หากต่อมาปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตามที่จำเลยที่ 2 วินิจฉัยเพิ่มให้พร้อมดอกเบี้ยไปแล้วก็ให้นำมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเมื่อมีการบังคับคดี”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการเวนคืนฯ และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดไว้อีกรวมเป็นเงิน 2,727,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและวันที่ศาลอุทธรณ์กำหนดและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่ศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระจนถึงวันฟ้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share