คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5004/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความมาตรา 229 ประกอบด้วย มาตรา 247 คู่ความจะต้องยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่ถ้าไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัยคู่ความฝ่ายที่เสียหายหรืออาจเสียหายเพราะการนั้นจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้นก็ได้และให้ศาลนั้นมีอำนาจทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมดังที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาซึ่งบังคับคดีแทนศาลจังหวัดอุดรธานี ขอให้เพิกถอน การขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ ศาลจังหวัดนครราชสีมาไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนดังนี้ จำเลยที่ 1 จะต้องยื่นฎีกาคดีนี้ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา การที่ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานีซึ่งมิใช่ศาลที่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเกี่ยวกับคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้เพื่อขอขยาย ระยะเวลายื่นฎีกาจึงเป็นการขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หาใช่เป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 ไม่ อีกทั้งตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาฉบับดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่อาจถือได้ว่ามีเหตุสุดวิสัย คำสั่งให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาของศาลจังหวัดอุดรธานีจึงมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นไม่ทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาตามมาตรา 229ประกอบมาตรา 247 ต่อศาลจังหวัดอุดรธานีได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลจังหวัดอุดรธานีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ 233,387.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามผิดนัดโจทก์ดำเนินการบังคับคดี โดยศาลจังหวัดอุดรธานีขอให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาดำเนินการบังคับคดีแทน เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 24934 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขายทอดตลาดโดยติดจำนองได้ราคา 180,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาว่าการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดและให้ทำการขายทอดตลาดใหม่
โจทก์คัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลจังหวัดนครราชสีมาไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องศาลจังหวัดนครราชสีมาซึ่งบังคับคดีแทนศาลจังหวัดอุดรธานีขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ ศาลจังหวัดนครราชสีมาทำการไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยศาลจังหวัดนครราชสีมาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความฟังตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2539 แล้ว ครั้งวันที่ 18 กันยายน 2539ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานีขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา อ้างเหตุเพิ่งให้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายความศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และรายงานการอ่านมาแสดงภายใน 7 วัน แล้วจะพิจารณาสั่ง ในวันเดียวกันนั้น ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงนำส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องขยายเวลายื่นฎีกาภายในวันที่ 8ตุลาคม 2539 นอกจากนั้นวันที่ 7 ตุลาคม 2539 ทนายจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานีขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีกอ้างเหตุว่า ทนายจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารต่าง ๆ ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาเพื่อนำมาประกอบการยื่นฎีกา แต่ยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว ศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2539 วันที่ 22ตุลาคม 2539 ทนายจำเลยที่ 1 จึงยื่นฎีกาต่อศาลจังหวัดอุดรธานี
พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ประกอบด้วยมาตรา 247 คู่ความจะต้องยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแต่ถ้าไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย คู่ความฝ่ายที่เสียหายหรืออาจเสียหายเพราะการนั้นจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้นก็ได้และให้ศาลนั้นมีอำนาจทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เห็นว่า จำเลยที่ 1 จะต้องยื่นฎีกาต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วข้างต้น การที่ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดอุดรธานีซึ่งมิใช่ศาลที่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเกี่ยวกับคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้เพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาทั้งสองครั้งดังกล่าวแล้ว กรณีเห็นได้ว่า เป็นการขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หาใช่ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 ไม่อีกทั้งตามคำร้องทั้งสองฉบับถือไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยอย่างใดคำสั่งให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาของศาลจังหวัดอุดรธานีจึงมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น กรณีไม่ทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นฎีกาต่อศาลจังหวัดอุดรธานีได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1

Share