คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมและ ร. สามีโจทก์ร่วมได้ ขายพลอยให้แก่จำเลยที่ 1 โดย จำเลยที่ 1 ออกเช็ค สั่งจ่ายเงินชำระราคาพลอยให้แก่ ร.เมื่อเช็ค ถึง กำหนดชำระเงิน ร. ให้ ส. นำไปเข้าบัญชีของ ส. เพื่อเรียกเก็บเงินแทน แต่ ธนาคารตาม เช็ค ได้ ปฏิเสธการจ่ายเงินดังนี้เป็นเรื่องผิดนัดไม่ชำระหนี้ทางแพ่ง และเป็นเรื่องความผิดต่อพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ หาใช่ความผิดฐานฉ้อโกงไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนพลอยแดงลายไหม หนัก 382.17 กะรัตและพลอยไพลิน หนัก 423.40 กะรัต หรือใช้ราคาพลอย 360,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางวรรณา วังศิริไพศาล ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุกคนละ 2 ปี กับให้จำเลยทั้งสองคืนพลอยแดงลายไหม หนัก 383.18 กะรัต และพลอยไพลิน หนัก 423.40กะรัต หรือใช้ราคาจำนวน 360,000 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2529 เวลาประมาณ 11 นาฬิกาโจทก์ร่วมและนายรณกรณ์ วังศิริไพศาล สามีโจทก์ร่วมได้มอบพลอยแดงลายไหมจำนวน 1 หมู่ หนัก 383.18 กะรัต และพลอยไพลิน 1 หมู่ หนัก423.40 กะรัต รวม 2 รายการ ราคา 360,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ไปและจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารกสิกรไทย ลงวันที่ 30พฤษภาคม 2529 จำนวนเงิน 318,700 บาท มอบให้นายรณกรณ์ไว้ ครั้นเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดการจ่ายเงิน นายรณกรณ์ได้มอบให้นายสามารถเนียมแสง นำไปเข้าบัญชีของนายสามารถเพื่อเรียกเก็บเงินแทน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีเพียงว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ร่วมตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาหรือไม่…ตามสำเนาภาพถ่ายรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.1 โดยในเอกสารดังกล่าวนี้ นายสามารถได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวนมีข้อความสรุปเป็นใจความได้ว่าเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2529 นายสมชาย อินศร (จำเลยที่ 1)ซึ่งเป็นคนรู้จักกับนายรณกรณ์มาก่อนได้มาติดต่อขอซื้อพลอยจากนายรณกรณ์คิดเป็นเงินประมาณ 318,700 บาท นายรณกรณ์ตกลงขายให้ และได้มอบพลอยให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนมหาไชย สั่งจ่ายเงินจำนวน 318,700 บาท ลงวันที่30 พฤษภาคม 2529 เป็นการชำระหนี้ และนายรณกรณ์ได้รับเช็คดังกล่าวไว้ ครั้นเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงิน นายรณกรณ์ได้มอบเช็คนั้นให้นายสามารถนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแทน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ฯลฯ จากข้อความตามเอกสารดังกล่าวย่อมเป็นข้อสนับสนุนข้อวินิจฉัยตอนต้นให้เห็นได้โดยชัดแจ้งยิ่งขึ้นว่า การส่งมอบพลอยและการรับเช็ครายนี้เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมและนายรณกรณ์ได้ขายพลอยให้แก่จำเลยที่ 1 ไป โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินเพื่อเป็นการชำระราคาพลอยที่ซื้อไปให้แก่นายรณกรณ์สามีโจทก์ร่วมอย่างแน่นอน ครั้นต่อมาเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงิน นายรณกรณ์ได้ให้นายสามารถนำไปเข้าบัญชีของนายสามารถเพื่อเรียกเก็บเงินแทน แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน กรณีจึงเป็นเรื่องผิดนัดไม่ชำระหนี้ทางแพ่งและเป็นเรื่องความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คต่างหากหาใช่เป็นเรื่องความผิดฐานฉ้อโกงตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาไม่…”
พิพากษายืน.

Share