คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อำนาจในการสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์เป็นอำนาจเฉพาะของศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวรวมตลอดถึงเรื่องการพิจารณาหลักประกันด้วย คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดคู่ความจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์มิได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 15,477,299.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงิน 14,983,302.23 บาท นับจากวันที่5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดจำนวน 200,575.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของเงิน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดจำนวน 7,926,901.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีของเงินดังกล่าวนับจากวันที่ 27 สิงหาคม 2527 จนถึงวันที่ 4มีนาคม 2529 และในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นเอาชำระหนี้จนครบ ยกฟ้องจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์โจทก์แถลงคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลอุทธรณ์สั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับดังกล่าวว่าให้ศาลชั้นต้นตีราคาทรัพย์สินที่จำนอง ถ้าไม่พอชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีกำหนด 4 ปี ก็ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 คนใดคนหนึ่งหรือร่วมกันหาประกันมาให้ครบภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างอุทธรณ์ แต่ถ้าตีราคาทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 4 แล้วไม่พอชำระหนี้ที่จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมดอกเบี้ย และจำเลยที่ 4 หาประกันสำหรับส่วนที่ขาดมาให้เป็นที่พอใจและภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับแก่จำเลยที่ 4 ไว้ในระหว่างอุทธรณ์และถ้าจำเลยที่ 6 หาประกันสำหรับจำนวนเงินที่ตนจะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมดอกเบี้ยมาให้เป็นที่พอใจและภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับแก่จำเลยที่ 6ไว้ในระหว่างอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง ในการพิจารณาหลักประกันศาลชั้นต้นสั่งว่า จำนวนหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา4 ปี เป็นเงินประมาณ 24,500,000 บาท โจทก์เสนอรายการประเมินราคาทรัพย์จำนองที่ธนาคารโจทก์ประเมินเป็นเงินทั้งสิ้น 6,325,735 บาทสูงกว่าที่ทางราชการประเมินไว้ แต่ต่ำกว่าครั้งที่โจทก์ประเมินตอนจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินซึ่งประเมินราคาเต็มของทรัพย์จำนองไว้ประมาณ 11,528,742 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น 11,528,842 บาท)ทั้งนี้เนื่องจากทรัพย์จำนองเสื่อมสภาพลง สำหรับราคาประเมินดังกล่าวเป็นราคาเต็มของทรัพย์จำนอง ซึ่งโจทก์ได้ให้จำเลยทำสัญญากู้ประมาณ 70 เปอร์เซนต์ ถึง 80 เปอร์เซนต์ ของราคาทรัพย์จำเลยเสนอราคาทรัพย์จำนองเป็นเงิน 28,200,000 บาท พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ราคาประเมินของจำเลยสูงเกินไปและบางรายก็ไม่อาจตีราคาได้ เช่น สุสานในที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 2389 เมื่อทำสัญญาจำนองจำเลยก็ตกลงในการประเมินราคาทรัพย์จำนองของโจทก์แล้ว สำหรับโจทก์ที่อ้างว่าทรัพย์จำนองเสื่อมราคานั้นมิได้เป็นดังที่อ้างทุกรายการไปในส่วนของราคาสิ่งปลูกสร้าง น่าเชื่อว่าเป็นจริง แต่ในส่วนของราคาที่ดินน่าเชื่อว่าราคาเพิ่มขึ้นดังนี้ควรประเมินราคาทรัพย์จำนองตามที่กำหนดกันไว้ขณะทำสัญญาจำนองเป็นเงิน 11,528,842 บาทโดยเพิ่มราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 2346, 2347 เท่าราคาตลาดรวมราคาประเมินทั้งสิ้น 11,678,842 บาท ให้จำเลยวางหลักประกันเป็นเงิน12,821,157 บาท ทั้งนี้ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 4 ราคาประเมิน200,000 บาท ในส่วนของจำเลยที่ 4 ให้วางหลักประกันไม่ต่ำกว่า120,575.34 บาท สำหรับจำเลยที่ 6 ให้วางหลักประกันไม่ต่ำกว่า12,683,040 บาท ให้จำเลยวางหลักประกันใน 1 เดือน และนัดพิจารณาหลักประกันในวันที่ 5 มกราคม 2531 เวลา 8.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว อ้างว่าทรัพย์จำนองของจำเลยมีราคามากพอแก่หนี้ตามคำพิพากษากับดอกเบี้ยอีก 4 ปี ตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและให้ถือเป็นหลักประกันศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าศาลชั้นต้นมิได้เชื่อคำแถลงของโจทก์ฝ่ายเดียวแต่ได้พิเคราะห์ตามเหตุผลแห่งสภาพของทรัพย์จำนองตามความเป็นจริงเป็นหลักวินิจฉัยโดยชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ฎีกาขอให้ศาลฎีกากำหนดวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งในการตีราคาทรัพย์จำนองเสียใหม่หรือมีคำสั่งรับหลักประกันจำเลยและให้ทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างอุทธรณ์ด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีนี้เป็นเรื่องที่พิพาทกันในชั้นขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ อำนาจในการสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับหรือไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์เป็นอำนาจเฉพาะของศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้รวมตลอดถึงเรื่องการพิจารณาหลักประกันด้วย คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด คู่ความจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์มิได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ซึ่งโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6

Share