แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ศ.2550 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว… และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น” ในการพิจารณาว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์ผู้รับโอนสินทรัพย์ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้หรือไม่ แม้บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามมาตรานี้ต้องเป็นการโอนหรือรับโอนมาจากผู้ใด แต่การที่กฎหมายบัญญัติให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้รับโอนสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่มีการฟ้องร้องหรือที่ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ ย่อมมีความหมายว่าต้องเป็นการโอนหรือรับโอนสินทรัพย์มาจากผู้โอนซึ่งเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่เดิม หรือเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเดิมดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เมื่อโจทก์ผู้เป็นคู่ความอยู่เดิมมิได้เป็นผู้โอนสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วแก่ผู้ร้องโดยตรง แต่อ้างว่าได้รับโอนมาจากบริษัท ร. ผู้โอน ซึ่งมิใช่คู่ความอยู่เดิมหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่เดิม หรือเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ผู้ที่มีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ตามคำร้องได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 185,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 225,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 ตุลาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคา แต่ไม่เกิน 6 เดือน
ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ต่อมาวันที่22 ธันวาคม 2552 โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสองแก่บริษัทรีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ซึ่งมิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ วันที่ 4 มกราคม 2555 บริษัทรีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน โดยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 วันที่ 19 กันยายน 2555 ไม่มีฝ่ายใดฎีกา จึงเป็นที่สุด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยสรุปว่า บริษัทรีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ไม่ใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษา จึงไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ทั้งไม่ใช่บุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้เข้าสวมสิทธิแทนได้ จึงไม่อาจเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เพื่อบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 บริษัทรีโซลูชั่น เวย์ จำกัด อ้างว่าได้โอนสิทธิเรียกร้องซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยทั้งสองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ คือเป็นบริษัทจำกัดที่ได้จดทะเบียนตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ศ.2550 มาตรา 5
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ศ.2550 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว… และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น” ในการพิจารณาว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์ผู้รับโอนสินทรัพย์ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้หรือไม่ แม้บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามมาตรานี้ต้องเป็นการโอนหรือรับโอนมาจากผู้ใด แต่การที่กฎหมายบัญญัติให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ได้รับโอนสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่มีการฟ้องร้องหรือที่ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ ย่อมมีความหมายว่าต้องเป็นการโอนหรือรับโอนสินทรัพย์มาจากผู้โอนซึ่งเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่เดิม หรือเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนคู่ความหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเดิมดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เมื่อโจทก์ผู้เป็นคู่ความอยู่เดิมมิได้เป็นผู้โอนสินทรัพย์อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วแก่ผู้ร้องโดยตรง แต่อ้างว่าได้รับโอนมาจากบริษัทรีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ผู้โอน ซึ่งมิใช่คู่ความอยู่เดิมหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่เดิม หรือเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ผู้ที่มีสิทธิเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ตามคำร้องได้ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3845/2556 ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในฎีกาเทียบเคียงกับคดีนี้นั้น เป็นเรื่องธนาคารโอนขายสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เงินกู้และมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่บริษัทซึ่งมิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ แล้วบริษัทดังกล่าวโอนขายต่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ จากนั้นบริษัทบริหารสินทรัพย์มาฟ้องลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง มิใช่เป็นการโอนสินทรัพย์ที่มีการฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว จึงมิใช่เรื่องบริษัทบริหารสินทรัพย์ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอย่างผู้ร้องคดีนี้นำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกคำร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง แต่มิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยสั่งให้ครบถ้วน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ