คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2767/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยถูก ว.ทำร้ายก่อนด้วยการกระชากคอเสื้อทุบหรือชกต่อยท้ายทอยและจับศีรษะโขกกับกระดานหมากรุกจนหน้าผากของจำเลยมีโลหิตไหลโดยมีจำเลยไม่ทันระวังตัวถึงกับจำเลยต้องวิ่งหนีเข้าไปในร้านตัดผมข้างที่เกิดเหตุแต่หนีไม่พ้น เพราะด้านหลังของร้านตัดผมไม่มีทางหนีจึงย้อนกลับออกมาทางหน้าร้านพบกับ ว.ตรงประตูทางเข้าร้าน ตัดผม ในขณะที่ ว.ใช้มีดล้วงกระเป๋ากางเกงด้านหลังไล่ตามจำเลยเข้าไป จำเลยเข้าใจว่า ว.จะล้วงเอาอาวุธปืนพกซึ่งปกติ ว.จะพกอยู่เป็นประจำออกมายิงจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนพกของจำเลยยิง ว.ไปหลายนัด เพราะความกลัวเป็นเหตุให้กระสุนปืนของจำเลยถูก ว.ถึงแก่ความตายและพลาดไปถูก ภ.ถึงแก่ความตายแต่จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงว. หลายนัด แสดงว่าจำเลยเจตนายิง ว.ให้ตายโดยไม่ยั้งมือ คือแทนที่จำเลยจะหยุดยิงเมื่อเห็นว่า ว. โดยกระสุนปืนที่จำเลยยิงล้มลงแล้วจำเลยกลับยิงต่อไปอีกหลายนัด ทำให้กระสุนปืนเหล่านั้น นอกจากจะถูก ว.หลายนัดจนถึงแก่ความตายแล้วยังพลาดไปถูก ภ.ซึ่งยืนดูการเล่นหมากรุก อยู่ถึงแก่ความตายด้วย ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่า กรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จำเลยจึงมีความผิด ฐานฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยเจตนาเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่ทางราชการอนุญาตให้จำเลยมีและใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนนั้นยิงผู้ตายโดยเจตนาเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยย่อมมีความผิดอาวุธปืนของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด ชอบที่ศาลจะสั่งริบเสียตามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพาอาวุธปืนพกขนาด 9 ม.ม. หมายเลขทะเบียนกท.1939072 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ติดตัวไปในทางสาธารณะ ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้พาอาวุธปืนติดตัวได้ และจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายวีระวุฒิ อิทธิอาภรณ์ จำนวนหลายนัดโดยจำเลยมีเจตนาเป็นเหตุให้นายวีระวุฒิถึงแก่ความตายและกระสุนปืนยังพลาดไปถูกนายภิเศก แสงสว่าง ที่ชายโครงราวนมซ้าย เป็นเหตุให้นายภิเศกถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงถูกผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายจริง แต่จำเลยกระทำไปเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายบูรณไชย อินธิอาภรณ์หรือนายเฮงกิม แซ่อุ้ย บิดาของนายวีระวุฒิ อิทธิอาภรณ์ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,371, 60, 62, 69 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ซึ่งเป็นบทหนัก ปรับ 3,000 บาท และฐานฆ่าคนตายโดยการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 60,62, 69 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 3 ปี และปรับ 3,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 2,000 บาท เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกของจำเลยเห็นสมควรรอการลงโทษ ไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบของกลาง โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าสำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืน จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุ ระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า การยิงนายวีระวุฒิ อิทธิอาภรณ์ จนนายวีระวุฒิถึงแก่ความตายเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย และการที่กระสุนปืนที่จำเลยยิงนายวีระวุฒิพลาดไปถูกนายภิเศกหรือพิเศก แสงสว่างถึงแก่ความตายอีกคนหนึ่งด้วยก็เป็นผลอันเนื่องมาจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้ตายทั้งสอง นั้น เห็นว่า แม้จะฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนที่จำเลยจะใช้อาวุธปืนของกลางยิงนายวีระวุฒิ จำเลยได้ถูกนายวีระวุฒิทำร้ายร่างกายก่อนด้วยการกระชากคอเสื้อ ทุบหรือชกต่อยท้ายทอยและจับศีรษะโขกกับกระดานหมากรุกจนหน้าผากของจำเลยมีโลหิตไหลโดยที่จำเลยไม่ทันระวังตัวถึงกับจำเลยต้องวิ่งหนีเข้าไปในร้านตัดผมข้างที่เกิดเหตุ แต่หนีไม่พ้นเพราะด้านหลังของร้านตัดผมดังกล่าวไม่มีทางหนีจำเลยจึงต้องวิ่งย้อนกลับออกมาทางหน้าร้านพบกับ นายวีระวุฒิ ตรงประตูทางเข้าร้านตัดผมในขณะที่นายวีระวุฒิ ใช้มือล้วงกระเป๋ากางเกงด้านหลังไล่ตามจำเลยเข้าไป จำเลยเข้าใจว่า นายวีระวุฒิ จะล้วงเอาอาวุธปืนพกซึ่งปกตินายวีระวุฒิ จะพกอยู่เป็นประจำออกมายิงจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนพกของจำเลย ยิงนายวีระวุฒิ ไปหลายนัดเพราะความกลัวเป็นเหตุให้กระสุนปืนของจำเลยถูกนายวีระวุฒิ ถึงแก่ความตายและพลาดไปถูกนายภิเศก หรือพิเศกถึงแก่ความตายด้วยก็ตาม แต่เมื่อได้พิจารณาถึงคำเบิกความของพันตำรวจโทประวิทย์ ศรีสุบัติ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ว่า พยานพบปลอกกระสุนปืนตรงบริเวณที่เกิดเหตุจำนวนถึง 8 ปลอก และปลอกกระสุนปืนเหล่านั้นร้อยตำรวจโทพลวิทยานนท์ รองสารวัตรแผนกขีปนาวุธกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจตรวจพิสูจน์แล้วเบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมประกอบรายงานผลการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย ป.จ.1 ยืนยันว่าเป็นปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิงมาจากอาวุธปืนของกลางซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้จำเลยเองก็นำสืบรับว่าจำเลยได้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงนายวีระวุฒิจำนวนหลายนัดย่อมแสดงว่าจำเลยเจตนายิงนายวีระวุฒิให้ตายโดยไม่ยั้งมือ คือแทนที่จำเลยจะหยุดยิงเมื่อเห็นว่านายวีระวุฒิโดยกระสุนปืนที่จำเลยยิงล้มลงแล้ว จำเลยกลับยิงต่อไปอีกจำนวนหลายนัด ทำให้กระสุนปืนเหล่านั้นนอกจากจะถูกนายวีระวุฒิหลายนัดจนถึงแก่ความตายแล้วยังพลาดไปถูกนายภิเศกหรือพิเศกซึ่งยืนดูการเล่นหมากรุก อยู่ บริเวณที่เกิดเหตุถึงแก่ความตายอีกคนหนึ่งด้วยพฤติการณ์ที่จำเลยยิงนายวีระวุฒิหลายนัดนี้เองโดยนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยเจตนาเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหาใช่เป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุหรือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยฎีกาไม่
ฎีกาของจำเลยอีกข้อหนึ่งที่ขอให้ไม่ริบอาวุธปืนของกลางโดยจำเลยอ้างว่าอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตจากทางราชการให้มีและใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ปรากฏตามสำเนาใบอนุญาตเอกสารหมาย จ.6 และการที่จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายทั้งสองก็ เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีความผิดไม่ชอบที่ศาลล่างทั้งสองจะสั่งริบอาวุธปืนของกลางนั้น เห็นว่าแม้อาวุธปืนของกลางจะเป็นอาวุธปืนที่ทางราชการอนุญาตให้จำเลยมีและใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางนั้นยิงผู้ตายทั้งสองโดยเจตนาเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุการกระทำของจำเลยย่อมมีความผิดดังได้วินิจฉัยแล้ว อาวุธปืนของกลางเป็น ทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด ชอบที่ศาลล่างทั้งสองจะสั่งริบเสียตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้โดยบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share